ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ไม่เพียงภาครัฐจะเร่งสร้างคุณภาพชีวิตเพื่อผู้สูงวัย ผู้สูงวัยเองก็ต้องเตรียมความพร้อมเช่นกัน

“การจะเป็นคนวัยเกษียณที่ไม่เหงา ไม่เศร้า ต้องพัฒนาทั้งทางร่างกาย สมอง ความคิด” รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ที่ปรึกษาบริหารด้านพัฒนาภาวะผู้นำของบำรุงราษฎร์ อะคาเดมี อดีตรักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ และหัวหน้าภาควิชาการบริหารจัดการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกริ่นนำแง่คิดการใช้ชีวิตหลังเกษียณ

ก่อนเล่าประสบการณ์ตรงในวัย 61 ปี ว่า ตอนอายุ 50 กว่าก็รู้สึกว่าใกล้เกษียณ อีกไม่กี่ปีก็แก่แล้ว แต่พออายุ 60 ก็รู้สึกว่าฉันยังทำอะไรได้หลายอย่าง ยังเดินทางคนเดียวได้ อายุมากขึ้นเดินเหินช้าลงบ้างแต่ไม่ใช่เดี้ยงจนทำอะไรไม่ได้ และยังทำประโยชน์ให้คนอื่นได้ด้วย

คนเกษียณที่รู้สึกหมดเรี่ยวหมดแรงอาจมีปัจจัยเพราะขาดฮอร์โมน ต้องไปตรวจเช็ก แต่ที่สำคัญต้องดูแลใจให้ดีด้วย หาที่พึ่งทางใจ ไม่ใช่เอะอะบ่น เรียกหาลูกหลาน ต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน อย่าไปเรียกร้องมาก เพราะยิ่งทำคนยิ่งห่าง

ส่วนการดูแลสุขภาพลำดับแรกคือการกิน โชคดีที่ต้นทุนดีคือพ่อแม่ไม่ได้ป่วยหรือมีโรคประจำตัว และครอบครัวปลูกฝังให้รับประทานได้ทุกอย่าง เราจึงไม่ใช่เด็กที่ไม่กินผัก ไม่ชอบรสหวานจัด มันจัด ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว

ไม่ใช่งด แต่กินให้เป็น ไม่หวานกับหวาน ครีมกับครีม ถ้าอายุน้อยๆ กะเพราไก่ไข่ดาวกินไปเถอะ แต่ถ้าอายุเยอะก็เปลี่ยนมาเป็นไข่ต้มแทน แกงเขียวหวานกินได้แต่ไม่ใช่ราดน้ำแกงโชกๆ ซดกะทิเรียบ

เมื่อมีเวลาว่าง ดร.ศิริยุพายังชอบทำอาหารจานด่วนสูตรเพื่อสุขภาพไว้รับประทานเอง เป็นเมนูง่ายๆ ไวๆ ไม่หนักแป้ง ไม่หวาน ไม่กินอาหารที่มีไขมันทรานส์ ที่ทำโชว์คือเมนูตอร์ติยา (แป้งโฮลวีต) โรลล์ ไส้หมูแยมส้ม แปลงแป้งเป็นโฮลวีต ใช้หมูไม่มีมัน แยมส้มที่มีน้ำตาลน้อย

ส่วนการออกกำลังกาย ดร.ศิริยุพาแนะว่าต้องดีไอวายให้เป็น ไม่ต้องเน้นอุปกรณ์ ไม่ต้องของแพง ไม่ต้องไปฟิตเนส แต่เข้าถึงแก่นของการออกกำลังกาย อย่าอ้างว่าไม่มีเวลา อยู่ออฟฟิศก็ลุกเดินได้ ส่วนตัวชอบว่ายน้ำ แต่ช่วงโควิดเพลาๆ ลง หันมาเดินครั้งละ 45 นาที อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์

งานบ้านถือเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง บ่อยครั้งที่ล้างรถเอง ท่อน้ำในบ้านตันก็อาศัยเปิดยูทูบทะลวงท่อเอง ทำสวน ถอนหญ้า

ขณะเดียวกัน วัยนี้ปัญหาสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บก็ต้องระวัง ดร.ศิริยุพากล่าวว่าช่วงหลังมาทำงานที่โรงพยาบาลได้ใกล้ชิดหมอ พยาบาล เห็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ อย่างเช่นการตรวจสุขภาพแบบองค์รวม เปรียบเหมือนการตรวจเช็กสัญญาณทางร่างกาย ทำให้ประเมินตัวเองได้รวดเร็ว เช่น เมื่ออายุมากขึ้นระดับฮอร์โมนแปรปรวนหรือมีน้อยลง ส่งผลให้มีปัญหาสุขภาพได้เยอะมาก เบื้องต้นคือความเครียด ทำให้ร่างกายหมดแรง ผิวแห้ง ผมร่วง หรืออาการหูตึงที่เรามองว่าเป็นอาการของคนแก่ แต่การไม่ได้ยินเสียงนานๆ ทำให้ระบบประสาทการรับรู้เสื่อม นำไปสู่โรคอัลไซเมอร์

นอกจากการดูแลตัวเองตามที่กล่าว ดร.ศิริยุพายังแนะนำให้หาความสุข “ส่วนตัวชอบดูหนัง ฟังเพลง เดินทางท่องเที่ยว มีเพื่อนหลากหลายกลุ่ม เป็นคนเวิร์กฮาร์ด เพลย์ฮาร์ด ชอบดริงก์แต่ดริงก์อย่างมีสติ และที่ชอบมากคือการเสพข่าวสาร ทนไม่ได้ที่จะไม่รู้เรื่องอะไร การเป็นนักวิชาการด้านบริหารจัดการบังคับเราต้องฟังข่าว ทั้งทางวิทยุและ แอพพลิเคชั่นต่างๆ”

เรื่องที่อยากฝากคนวัยเกษียณพ.ศ.นี้ ดร.ศิริยุพากล่าวว่าตราบใดยังมีลมหายใจ โลกเปลี่ยนเราต้องติดตาม บางคนปฏิเสธเทคโนโลยี สมาร์ตการ์ด มือถือ ไลน์ โอนเงินทางแอพฯ การใช้ชีวิตก็ลำบาก เราต้องพึ่งตนเองได้มากที่สุด คงไม่ถึงกับไปเล่นติ๊กต็อก มีจิตใจสู้ มองบวก

“คนที่ลำบากและอยู่ในสภาพที่แย่กว่าเรามีอีกเยอะ ทำให้ชีวิตเรา มีคุณค่า มีความสุขกับเรื่องรอบข้าง ความสุขหาได้ง่าย ขึ้นอยู่กับว่า คุณมองตรงไหน” ดร.ศิริยุพาทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน