วันที่ไปร่วมทริปของ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และคณะ พร้อมด้วย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงพื้นที่จ.ศรีสะเกษ ภายใต้กิจกรรม สวทช. เสริมแกร่งภูมิภาค ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG “ขับเคลื่อนโปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้” ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ เมื่อหลายวันก่อน ได้มีการนำสินค้าหลากหลายที่หน่วยงานและสถาบันการศึกษาในจ.ศรีสะเกษเข้าไป ส่งเสริมมาโชว์

บูธหนึ่งที่น่าสนใจคือ บูธแปรรูปหัวหอมของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มออมทรัพย์พัฒนาสตรีบ้านเมืองแสน ต.คอนกาม อ.ยางชุมน้อย ที่มีคุณวิลาวัณย์ แก้วคำ เป็นประธาน ซึ่งมีผลิตภัณฑ์หลายอย่าง อาทิ หอมเจียว กิมจิ และชาหอมแดง ใครชิมแล้วต่างติดอกติดใจ และซื้อติดไม้ติดมือกลับไป โดยเฉพาะหอมเจียวราคาไม่แพง 3 ถุง 100 บาท

คุณวิลาวัณย์ วัย 47 ปี วุฒิปวช. สาขาบัญชี ที่มีตำแหน่งประธานยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์จ.ศรีสะเกษ พ่วงท้าย เล่าให้ฟังว่า ทำอาชีพเกษตรกรรมตามที่พ่อแม่พาทำ ไม่มีแบบแผนอะไร แต่ตอนนี้พอมีองค์ความรู้จากการไปศึกษาอบรมของหน่วยงานต่างๆ จึงทำเกษตรอินทรีย์โดยไม่ใช้สารเคมี ซึ่งในพื้นที่ 25 ไร่ แบ่งสัดส่วนเป็นปลูกหอม 5 ไร่ เลี้ยงปลา ทำนา ปลูกพืชผสมผสานยึดหลักปรัชญาเกษตรพอเพียง เป็นการทำระบบเกษตรผสมผสาน เพื่อให้มีความ หลากหลาย พร้อมนำมาแปรรูป และจำหน่าย

ในส่วนของแปลงปลูกหอมแดงนั้น ได้เข้าร่วมกลุ่มแปลงใหญ่ หอมแดง ต.คอนกาม มีสมาชิก 67 ราย เข้าร่วมโครงการปลูกหอมคนละ 3 ไร่ รวมประมาณ 200 ไร่ ประกอบด้วยมาตรฐาน GAP 40 ราย พื้นที่ 80 ไร่ ได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) หอมแดง จำนวน 19 ราย ในพื้นที่ 57 ไร่ ระยะปรับเปลี่ยนเพื่อขอการรับรองมาตรฐานอินทรีย์ ปีที่ 2 จำนวน 6 ราย พื้นที่ 6 ไร่ และเข้าสู่ระยะปรับเปลี่ยนปีที่ 1 จำนวน 16 ราย พื้นที่ 16 ไร่

ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มออมทรัพย์พัฒนาสตรีบ้านเมืองแสน บอกว่า เดิมนั้นทางกลุ่มขายหอมแดงแบบตกแต่ง ต่อมาเริ่มนำ หัวหอมมาแปรรูปเมื่อปี 2559 เน้นในเรื่องสุขภาพ เริ่มจากทำเป็น ชาหอมแดงก่อน มีสรรพคุณช่วยลดหวัด ลดไข้

ส่วนผสมประกอบด้วยหัวหอมแดงอินทรีย์แห้ง ใบหอมแดงแห้ง และใบเตย ส่งออกไปที่ประเทศลาว จากนั้นในช่วงที่หอมแดงสดตกต่ำจะแปรรูปเป็นหอมเจียว โดยคัดเกรดที่ส่งออกไม่ได้มาทำ ส่งขายทั้ง ในต่างจังหวัดและต่างประเทศ หอมเจียวของที่นี่ใช้น้ำมันที่ไม่มี ไขมันทรานซ์ ใช้น้ำมันปาล์มเกรดดี ไม่มีส่วนผสมแป้ง รสชาติ หอมเจียว มีความหวานอยู่ในตัว ใช้ชื่อแบรนด์ ‘วิลา’ ขณะนี้อยู่ในช่วงกำลังปรับปรุงแบรนด์และบรรจุภัณฑ์ และขออย.อยู่ สนใจติดต่อได้ที่ 08-7876-0541

นอกจากนี้ยังนำหอมแดงมาทำกิมจิด้วย ซึ่งทางจังหวัดศรีสะเกษและหลายหน่วยงาน เข้ามาช่วยอบรมสอนการทำกิมจิ สร้างรายได้ให้กับกลุ่มเป็นอย่างดี เพราะปกติหอม 1 ก.ก. นำมาทำเป็นกิมจิ สร้างรายได้เกือบ 150 บาท เป็นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ ของกลุ่ม และยังมีกิมจิกระเทียมด้วย

ทีนี้มาคุยกันในส่วนของการปลูกหอมกันบ้าง เธออธิบายว่า ปลูกมาตั้งแต่จำความได้ตั้งแต่สมัยใช้บัวช่วยรดน้ำแล้วปรับเปลี่ยนนวัตกรรมนำเทคโนโลยีเรื่องไฟฟ้า สปริงเกอร์น้ำพุ่งมาช่วยรดน้ำ

เพื่อช่วยลดค่าแรง ปัจจุบันปลูกหอมแบบอินทรีย์ เริ่มจาก 1 คน มาเป็น 22 คน และปรับเปลี่ยนเป็น GAP แล้ว 40 ราย สาเหตุที่ทำหอมอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุน และเพื่อปลอดภัย ที่สำคัญสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ เพราะ สมัยก่อนทำแบบเคมีต้นทุนสูงมาก เวลาออกตลาด ลูกค้าต้องการกินหอมที่ปลอดภัย คนปลูกเองก็อยากกินของที่ปลอดภัยเช่นกัน เลยปรับเปลี่ยนมาปลูกแบบอินทรีย์แทน

สำหรับขั้นตอนการปลูก เริ่มแรกเตรียม พันธุ์หอมไว้ และเตรียมพื้นที่ที่จะปลูกในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. โดยแบ่งพื้นที่เป็นล็อกๆ เพื่อถอนวัชพืชได้ง่าย ก่อนปลูกหว่านพืชพรวนดินตั้งแต่ช่วงหน้าฝนปรับสภาพดินใช้ปอเทือง หว่านไถกลบ ตามด้วยใส่ปุ๋ยคอกขี้วัว เป็ดและขี้ไก่ จากนั้นนำเชื้อไตโคดราม่าฉีดพ่นบนดิน ไถกลบไว้ประมาณ 2 เดือน ตากดินให้แห้งเพื่อเตรียมความพร้อมในการ ปลูกหอม ปลูกเสร็จแล้วปูฟาง ใช้แกลบโรยแล้วใช้น้ำหมักฉีดพ่น บำรุงใบ บำรุงหัว บำรุงต้น ใช้เพื่อป้องกันแมลง

พอเก็บเกี่ยวต้องเก็บไว้ที่โล่งสูง เนื่องจากหอมไม่ชอบความชื้น ความแฉะ จะเก็บได้นาน 5-6 เดือน หลังจากนั้นจะเริ่มฟ่อ มียอด แต่ถ้านานกว่านั้นจะอยู่ประมาณ 7-8 เดือน แต่ก็ไม่ถึง 10 เดือน เพราะว่า 10 กว่าเดือนจะหมดอายุของหอม

ทั้งนี้ใช้เวลาปลูกประมาณ 55-70 กว่าวัน ถ้าปลูกในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. อยู่ประมาณ 65-75 วัน จะเก็บได้นาน เวลามาทำชาหอม รสชาติจะหอม กลมกล่อม เป็นชาที่มี คุณภาพดี

พูดถึงปัญหาการปลูก เธอว่า โรคของหอม คือแอนแทรคโนส แต่หากปรับเปลี่ยนมา ปลูกในช่วงฤดูหนาว จะเกิดโรคน้อย อีกอย่างต้องหมั่นเข้าแปลงดูแล ถ้าเป็นพวกหนอน ใช้สารพวกชีวภัณฑ์ ยูเรีย เข้าช่วย ถ้าเป็นโรคของพืชใช้เชื้อไตรโคเดอร์มา

การปลูกหอม 1 ไร่ ใช้หัวพันธุ์หอมประมาณ 200-300 ก.ก. พอปลูกเสร็จน้ำหนักของหอมอยู่ที่ 3,000-3,500 ก.ก. ต่อไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและการบำรุงรักษา การลงทุนหอม 1 ไร่ อยู่ที่ประมาณเกือบ 30,000 บาท ถ้าขายก.ก.ละ 35 บาท ก็ได้เยอะอยู่ แต่ตนเองขายก.ก.ละ 50 บาท โดยขายตามตลาด หน้าเพจ และตามกลุ่มไลน์ ซึ่งการปลูกแบบอินทรีย์จะได้ราคาดีกว่า แต่ต้องเอาใจใส่เข้าดูแลแปลงทุกวัน ไม่ให้หอมเกิดความชื้น

ปีหนึ่งปลูกหอม 2 รอบ บางปีถ้ามีพันธุ์หอมเยอะ แต่บางปีปลูกรอบเดียว และในช่วงที่ 2 จะปลูกหอมทำพันธุ์ในเดือนเม.ย.-พ.ค. ทำพันธุ์เก็บพันธุ์ไว้ และปลูกช่วงต.ค.-ธ.ค. ซึ่งการปลูกหอมทำพันธุ์กับปลูกขายต่างกัน ปลูกหอมทำพันธุ์ใช้เวลา 45 วัน ได้หัวเล็ก ส่วนการปลูกขายหัวจะใหญ่กว่า เก็บนาน อายุได้นานประมาณ 65-75 วัน

นับเป็นกลุ่มเกษตรกรอีกกลุ่มที่ทำครบวงจร ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ ส่งผลให้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ คุ้มค่ากับสิ่งที่ลงทุนไป

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน