ก้าวแรกบนเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ณ ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน สิรินาถราชินี นอกจากจะได้เห็นต้นโกงกางใบเล็กนับร้อยต้นที่เรียงราย ต้นเรียวๆ เอนเอียงลู่ลมสลับกันไป ก็จะมีปูที่เดินไปมาขวักไขว่บนหน้าเลน

ที่นี่จึงเปรียบเสมือน “ป่าปู” ก็ว่าได้
ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน สิรินาถราชินี ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นแหล่งธรรมชาติที่ได้รับการฟื้นฟูมานานกว่า 25 ปีแล้ว เดิมเป็น นากุ้ง แต่ปัจจุบันที่นี่มีสิ่งมีชีวิตมากมายอาศัยอยู่ เป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์มากพื้นที่หนึ่ง

ปูซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่สำคัญมากในระบบนิเวศป่าชายเลน แน่นอนว่าหากมีป่าชายเลนก็จะต้องมีปู

“นอกจากปูจะกินซากพืช เช่น ใบโกงกางที่ร่วงหล่นแล้ว ปูยังช่วยย่อยใบโกงกาง ชิ้นใหญ่ๆ ให้เล็กลง ให้ต้นไม้ต่างๆ ดูดซึมเอาไปหล่อเลี้ยงต้นให้เจริญเติบโตได้อีก เป็นการหมุนเวียนที่เรียกว่าห่วงโซ่อาหารค่ะ” นิดานุช สังข์เปีย หรือพี่เม เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ สิรินาถราชินี บอกเล่าประโยชน์ของปูและความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันของธรรมชาติในป่าชายเลน

“ที่นี่ปูเยอะมากเลยค่ะพี่เม มีแต่ปูแสมหรือคะ” อิงฟ้า ด.ญ.ปราณปริยา เหล่าลาภผล มาที่นี่ประจำเพราะบ้านอยู่ไม่ไกลศูนย์ฯ สิรินาถราชินีแห่งนี้ มากี่ครั้งก็จะเห็นปูแสมเดินบนหน้าเลน โชว์ตัวอย่างภาคภูมิใจ ไม่แปลกใจเลยที่จะสงสัยในชนิดของปู

“ที่เราเห็นตอนนี้มีแต่ปูแสมก็จริงนะคะ แต่รู้ไหมว่าปูแสมในป่าชายเลนนี้ที่เราสำรวจพบมีมากถึง 11 ชนิดเลยนะ” พี่เมตอบคำถามอิงฟ้า

เสียงเด็กๆ ร้องโอ้โห! กับชนิดปูแสม เพราะในชีวิตประจำวันของเรา ปูแสมคือปูที่อยู่ในส้มตำ หลายคนไม่เคยรู้เลยว่าปูแสมมีมากชนิดเช่นนี้

ปูแสมเป็นปูขนาดเล็ก มีลักษณะเด่นที่ใช้สังเกตคือกระดองจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก้านตาสั้น ไม่มีขาพายที่ใช้ว่ายน้ำ เพราะชีวิตของปูแสมจะอาศัยอยู่ที่ป่าชายเลนตลอด ปูแสมแต่ละชนิดจะมีสีสันหรือลักษณะผิวบนกระดองรวมไปถึงลวดลายที่แตกต่างกันไป

“นี่คือปูแสมก้ามแดง สังเกตง่ายๆ คือก้ามจะมีสีแดง ด้านหน้าจะมีแถบสีขาวหรือสีฟ้าอมเขียว กระดองจะมีลวดลายขรุขระ สีเขียวอมเหลืองบนพื้นสีดำ เห็นไหมคะ”

พี่เมยกปูแสมก้ามแดงตัวหนึ่งขึ้นมาให้เด็กๆ ดูใกล้ๆ พร้อมกับชี้ลักษณะต่างๆ ให้เด็กๆ สังเกตและจดจำ

“พี่เมคะ ปูตัวนี้มีไข่ด้วย แบบนี้เราควรปล่อยมันไปเพื่อมันจะได้วางไข่และออกลูกมาเยอะๆ ใช่ไหมคะ” อิงฟ้าพูดหลังจากสังเกตไข่ที่ท้องของปูแสมก้ามแดงในมือพี่เม

การศึกษาธรรมชาติและเห็นการเชื่อมโยงกันของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตในระบบนิเวศ ทำให้เด็กๆ รู้ว่าการมีอยู่ของทุกสิ่งบนโลกมักมีเหตุผล และทุกสิ่งมักมีบทบาทหน้าที่สำคัญของตน เพื่อให้ธรรมชาติขับเคลื่อน หมุนเวียนกัน เมื่อความสมดุลเกิดขึ้นความสมบูรณ์ก็จะตามมา

ปูที่ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้บริโภคหรือกินซากพืชเป็นอาหารยังทำหน้าที่เป็นเหยื่อให้สัตว์ที่ใหญ่กว่า เช่น นก ลิง หรือแม้แต่มนุษย์ และปูก็ทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลายที่ย่อยซากพืชต่างๆ ให้ต้นไม้หมุนเวียนกลับไปเลี้ยงต้นให้เจริญเติบโตเป็นผู้ผลิตที่ดีต่อไป หมุนวนเป็นระบบห่วงโซ่อาหาร

เมื่อปูมีในจำนวนที่พอเหมาะและมีอัตรการเกิดการรอดที่สมดุลดี สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็จะมีอาหาร มีการพึ่งพากันในธรรมชาติ ปูตัวจิ๋วแต่ประโยชน์มหาศาล

เรื่องปูมีอะไรมากกว่าที่คิด ติดตามปู ปู ปู ในรายการทุ่งแสงตะวันตอน “ปูที่ปราณ” ในวันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม 2565 เวลา 05.05 น. ทางช่อง 3 กด 33 และทางเพจทุ่งแสงตะวัน เวลา 07.30 น.

รัตนาภรณ์ ละมูลเจริญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน