อ.แม่แจ่ม เป็น 1 ในบรรดาแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจ.เชียงใหม่ นักเดินทางจะได้สัมผัสทะเลหมอก และนาข้าวขั้นบันไดที่ โอบล้อมไปด้วยภูเขาน้อยใหญ่ ในช่วงเดือนก.ย.-ปลายต.ค. แต่วันนี้จะพาไปชิมกาแฟอินทรีย์ที่บ้านแม่หยอด หมู่ที่ 9 ต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม และเลือกซื้อผ้าทอ ‘ชาวปกาเกอะญอ’ หรือกะเหรี่ยง ที่มีลวดลาย สีสันสวยงาม

‘คุณอาเสก ศิลปาชีพวิไล’ วัย 31 ปี ผู้ใหญ่บ้าน ‘บ้านแม่หยอด’ จบปวส. จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ เล่าว่า บ้านแม่หยอดปลูกกาแฟอาราบิก้าตั้งแต่ปี 2522 ปีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ มาที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง บ้านปางอุ๋ง ต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม และทรงนำกาแฟมาส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกรอบบริเวณบ้าน สมัยก่อนปลูกไว้ เมื่อมีคนมาขอซื้อค่อยเก็บขาย พอไม่มีคนซื้อก็ปล่อยให้เมล็ดแก่ร่วงลงพื้นดิน จนเกิดเป็นต้นใหม่ กาแฟต้นแรกๆ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงส่งเสริมให้ปลูก ยังมีอยู่ อายุ 40 กว่าปีแล้ว ชาวบ้านใช้พันธุ์ดั้งเดิมมาขยายพันธุ์ต่อและขายเมล็ดกาแฟเชอร์รี่ให้คนข้างนอก จึงได้ราคาไม่ดี

เมื่อตนกลับมาอยู่บ้านปี 2561 ได้ชักชวนเพื่อนๆ และเยาวชนมาสีเมล็ดกาแฟ หมัก ตากแห้ง และคั่วเอง เริ่มขายเป็นกะลาในปีแรก ปี 2561 หลังจากนั้นปี 2562 คิดว่าควรสร้างเป็นแบรนด์ของหมู่บ้านดีกว่า ใช้ชื่อแบรนด์ “พือพี” (PHUPHI) ในภาษาปกาเกอะญอแปลว่า ปู่ย่าตายาย โดยออกบูธตามงานแสดงสินค้าต่างๆ

กาแฟที่นี่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานอย่างเป็นทางการ แต่ผู้ที่นิยมดื่มกาแฟมาชิมแล้วให้ความเห็นว่ามีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ ได้รสชาติรากไม้และสมุนไพร เพราะปลูกในพื้นที่แบบธรรมชาติ ไม่ได้ใช้สารเคมีใดๆ เป็นกาแฟอินทรีย์ อาศัยรากไม้ที่ทับถมกันเป็นปุ๋ยตามธรรมชาติ

การคั่วเมล็ดกาแฟ มีการคั่วตั้งแต่ระดับอ่อนๆ ไปถึงคั่วเข้ม ในส่วนการคั่วอ่อนได้รสชาติแบบผลไม้ เปรี้ยวอ่อนๆ หวาน และ ติดขมนิดๆ มีกลิ่นหอม ถ้าคั่วกลางได้รสชาติเปรี้ยวลดลงมาหน่อย มีความขมและรสชาติที่แน่นขึ้น ส่วนคั่วแก่ไม่ค่อยได้รสชาติของกาแฟเท่าไร รสชาติติดขมจึงไม่ค่อยได้ทำ ที่หมู่บ้านไม่มีโรงคั่วเอง อาศัยเพื่อนในตัวเมืองแม่แจ่มคั่วเมล็ดกาแฟให้

สำหรับการขายกาแฟออร์แกนิก ราคา 600 ต่อก.ก. ช่วงหลังๆ เมล็ดกาแฟในชุมชนค่อนข้างออกน้อย ไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย จากก่อนหน้านี้เก็บเป็นกะลา แกลลอนละ 500-600 บาท หรือ 1,000 ก.ก.ต่อปี ปีนี้เหลือกาแฟกะลาอยู่ไม่ถึง 500 ก.ก. เนื่องจากอากาศแปรปรวน ปกติเดือนก.พ.เป็นช่วงกาแฟเริ่มออกดอก และให้ผลผลิตตามมา แต่ปีนี้ฝนตกลงมา กระทบต่อผลผลิต ปีแรกๆ ที่ตนกลับมาทำเรื่องกาแฟ ตอนนั้นกาแฟกำลังราคาดีขึ้น จึงรับซื้อผลเชอร์รี่ของชาวบ้านในราคาเริ่มต้นก.ก.ละ 15 บาท จากแต่ก่อนชาวบ้านขายให้พ่อค้าก.ก.ละ 10 บาท ทำให้ปีนั้นซื้อของชาวบ้านประมาณ 30,000-40,000 บาท

ขณะนี้ทำกาแฟในนามกลุ่มเยาวชนบ้านแม่หยอด ยังไม่มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจ อนาคตวางแผนจะพัฒนาต้นกาแฟในชุมชน โดยตัดแต่งทรงพุ่มให้เหมาะสมกับการเก็บผลผลิตมากขึ้น เนื่องจากต้นที่อายุมากแล้ว ต้นจึงสูง ยากต่อการเก็บผลผลิต ซึ่งการปลูกกาแฟของคนในพื้นที่เหมือนเป็นอาชีพเสริมเสียมากกว่า เมื่อมีผลผลิตก็เก็บ ช่วงหลัง ชาวบ้านเริ่มสนใจกาแฟกันมากขึ้น แต่ผลผลิตที่ได้ยังน้อยอยู่ พอช่วงโควิด-19 ติดปัญหาตรงออกบูธไปขายที่ไหนไม่ได้

คุณอาเสกแจงว่า สมัยก่อนการปลูกกาแฟไม่มีปัญหาอะไร แต่ช่วงนี้พบปัญหามอด อาจเป็นเพราะไม่เคยนำพันธุ์อื่นมาปลูก โดยมอดเจาะเข้าไปกินเมล็ดกาแฟข้างใน ทำให้ผลผลิตเสียหาย ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาช่วยเหลือ แต่ได้รับคำแนะนำว่าให้ตัดต้นทิ้งและใช้ไฟเผา แต่ยังไม่ได้ทำเพราะกังวลเรื่องไฟที่อาจลุกลามได้ คงต้องปล่อยไปตามมีตามเกิด

“ผมอยากทำกาแฟให้ดีมากกว่านี้ แต่ติดปัญหาโรคโควิด-19 และเรื่องสภาพพื้นที่ ถ้าเน้นเรื่องกาแฟมากเกินไปอาจกลายเป็น ดาบสองคมได้ เพราะจะทำให้ธรรมชาติขาดความอุดมสมบูรณ์ เช่น อาจมีการแผ้วถางพื้นที่ป่าเพื่อปลูกกาแฟมากขึ้น กลายเป็นพืชเชิงเดี่ยวไป จึงอยากให้เป็นไปตามธรรมชาติมากกว่า อย่างไรก็ตามถ้าจะส่งเสริมอย่างจริงจัง โดยมีตลาดรองรับที่แน่นอนในราคาที่เป็นธรรม ต้องส่งเสริมให้ปลูกในพื้นที่หลังบ้าน ผู้สนใจกาแฟอินทรีย์บ้าน แม่หยอดติดต่อผมได้ที่ 09-7349-2532 หรือไอดีไลน์ 08-0847-9517”

ขณะเดียวกันร.ร.บ้านขุนแม่หยอดก็ส่งเสริมให้นักเรียนทำกาแฟและเปิดร้านกาแฟในร.ร. ใช้ชื่อแบรนด์ ‘ตาหลู่โค่’ แปลว่าขุนเขา

ทีนี้มาถึงผ้าทอกันบ้าง คุณญานิกา ผามุง หนึ่งในสมาชิกกลุ่มผ้าทอแม่หยอดที่มีกัน 10 กว่าคน ให้ข้อมูลว่า จุดเด่นผ้าทอแม่หยอด คือ ย้อมสีธรรมชาติที่มีอยู่หลายชนิด เช่น กูทอแย เป็นต้นไม้ใหญ่ นำเปลือกไม้มาทำสี ได้สีชมพูโอลด์โรสนิดๆ หรือสีจากลูกหว้าป่า ให้สีม่วงๆ เทาๆ ต้นเพกาให้สีเขียวอ่อน และต้นหมากให้สีแดง ก่อนหน้านี้ออกบูธขายทั้งที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ รวมทั้งส่งให้โครงการหลวงบ้าง ส่วนใหญ่ทำเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปแบบปกาเกอะญอ ดั้งเดิม อีกทั้งมีการย้อมสีแบบเคมีด้วย แต่การย้อมสีธรรมชาติขายได้ราคาแพงกว่า สำหรับเสื้อผ้าผู้ชายอยู่ที่ตัวละ 500 บาท ผู้หญิง 700-800 บาท ถ้าเป็นเสื้อปักลายของผู้หญิงเริ่มต้นที่ 1,000 กว่าบาท สนใจติดต่อได้ที่ 09-3217-5867

ใครไปเที่ยวอ.แม่แจ่ม ขอแนะนำชิมกาแฟของบ้านแม่หยอด รับรองนักดื่มที่ชื่นชอบกาแฟรสชาติผลไม้ติดใจแน่นอน

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน