ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ร่วม แสดงความคิดเห็นต่อนโยบายกัญชาของรัฐบาล หลังกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศปลดพ้นบัญชี ยาเสพติด

ย้ำว่ากัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ มีสารออกฤทธิ์ต่อ จิตประสาทมากมาย โดยเฉพาะสารที่ทำให้เคลิบเคลิ้ม เกิดการดื้อยา ถอนยา และอยากยาจนไม่สามารถควบคุมได้

นอกจากนี้ ยังเป็นการให้โทษที่ส่งผลเสียร้ายแรง ต่อสุขภาพ จึงต้องมีกฎหมายควบคุม เพราะการใช้ในปริมาณมาก ทำให้เกิดภาวะเป็นพิษ ส่งผลเสียต่อสุขภาพแบบเรื้อรังได้

หากใช้ในทางการแพทย์ต้องใช้โดยอิงหลักฐานเชิงประจักษ์ และระมัดระวัง เพราะมีเพียงไม่กี่ภาวะที่น่าจะบรรเทาได้ด้วยสารกัญชา เช่น ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด โรคลมชักที่ดื้อต่อการรักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยบางประเภท

ขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรอยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมายนี้ในชั้นกรรมาธิการ ที่ต้องเชิญแพทย์ นักวิชาการ นักฎหมาย ตลอดจนสหวิชาชีพต่างๆ มาให้ความเห็นอย่างรอบด้าน

แถลงการณ์ของทั้ง 2 องค์กรดังกล่าว ได้แสดงความเป็นห่วงว่ากฎหมายควบคุมการปลูกและการใช้กัญชาที่ย่อหย่อน จะส่งผลเสียร้ายแรงต่อสังคมตามมา

การป่วย พิการ เสียชีวิตจากกัญชาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะภาวะเป็นพิษจากกัญชาที่ต้องได้รับการรักษาโดยเร่งด่วน อุบัติเหตุจราจรจากการเมากัญชา และจำนวน ผู้ป่วยโรคจิตเรื้อรังเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังอาจเพิ่มจำนวนผู้เสพติดมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่น ผู้ผลิตสินค้าเพื่อการบริโภคที่มีส่วนผสมสารกัญชาจะแข่งกันเพื่อให้ผู้ใช้ยึดติด โดย ไม่คำนึงถึงผลเสียต่อสุขภาพผู้บริโภค

ที่น่าห่วงใย ก็คือการเล็งผลเลิศว่าจะใช้กัญชากระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดให้ชาว ต่างประเทศเข้ามาพักผ่อนในประเทศไทยจำนวนมากๆ

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สัมผัสและดื่มด่ำประสบการณ์เกี่ยวกับกัญชาในพื้นที่ถูกกฎหมาย เหมือนบางประเทศ ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง ต้องระมัดระวังผลเสียหายอีกด้านจะตามมาเช่นกัน

กัญชาและผลิตภัณฑ์กัญชาที่มีสารเสพติดในปริมาณมาก จะต้องควบคุมเพื่อไม่ให้ใช้ในทางที่ผิด ในส่วนที่ ใช้ในทางการแพทย์ก็ต้องเข้มงวดเพื่อใช้ในการรักษาพยาบาลอย่างแท้จริง

การมองประโยชน์ในด้านที่เป็นคุณ นำมาสู่การปลดล็อกเป็นกัญชาเสรี ถือเป็นความก้าวหน้าทันสมัย แต่ต้องไม่ละเลยมองไม่เห็นด้านโทษด้วยเช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน