กทม. – เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานครและบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ชดใช้ค่าเสียหายราว 1.2 หมื่นล้านรวมดอกเบี้ย ให้กับบริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส กรณีผิดสัญญาชำระค่าตอบแทนการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 โดยศาลให้เหตุผลว่า การที่กทม.ได้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ( ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง) และส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) และได้มอบหมายให้เคที ซึ่งเป็นวิสาหกิจ ที่กทม.ถือหุ้นร้อยละ 99.98 เพื่อให้การดำเนินกิจการสาธารณะของกทม.มีความคล่องตัว

เมื่อ บ.กรุงเทพธนาคมฯ มีหนี้ค้างชำระตามสัญญา การให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร กับบีทีเอสทั้งในส่วน ต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 กทม.จึงต้องร่วม รับผิดชำระหนี้ดังกล่าวกับบ.กรุงเทพธนาคมฯ ให้กับ บีทีเอสด้วย เป็นจำนวนเงินในส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 2,348,659,232.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงิน 2,199,091,830.27 บาท ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 9,406,418,719.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินจำนวน 8,786,765,195.47 บาท ตามอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ที่ประกาศโดยบมจ.ธนาคารกรุงไทย นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่บีทีเอสภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องเก่าที่มีการฟ้องร้อง ตั้งแต่เดือนก.ค.2564 ซึ่งเป็นหนี้ผูกพัน จะให้จ่ายภายใน 1-2 เดือนไม่ได้ เพราะ กทม.ต้องคิดอย่างรอบคอบ และต้องยึดผลประโยชน์ให้ประชาชนเป็นหลัก ดังนั้นจึงจะมอบให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณา ซึ่ง กทม.มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน

ส่วนเรื่องการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต สะพานใหม่ คูคต แม้จะเป็นอำนาจของ ผู้ว่าฯ กทม.โดยตรง แต่จะต้องมีการรายงานให้ ที่ประชุมสภากทม.รับทราบ ซึ่งจะนำเข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 14 ก.ย.นี้ เพราะหากก่อหนี้ไปแล้ว ต้องขออนุมัติงบประมาณ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน