วันนี้เกษตรกรไทยจำนวนไม่น้อยใช้ โดรนเกษตรในการใส่ปุ๋ยพ่นยา เพราะปัจจุบันโดรนที่ใช้ในงานเกษตรราคาไม่แพงเหมือนสมัยก่อน มีตั้งแต่ราคาหลักหมื่นถึงแสน ที่สำคัญประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน และประหยัดค่าแรง ขณะที่โดรนเกษตรมีให้เลือกหลากหลายยี่ห้อ มีทั้งนำเข้าและผลิตเองภายในประเทศ

วันนี้จะพาไปสนทนากับ ‘คุณวชิรวัฒน์ อังศุพาณิชย์’ วัย 30 ปี ผู้ก่อตั้งโดรนเกษตร แบรนด์บัคอะเวย์ (Bug Away) อันเป็นแบรนด์ของคนไทยที่มีโรงงานผลิตอยู่ที่ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี หนุ่มรายนี้กวาดมาแล้วหลายรางวัลตั้งแต่ยังเรียนชั้นมัธยม

อย่างเช่นผลงาน Super Quadrotor หรืออากาศยานไร้คนขับ ใช้สำหรับถ่ายภาพทางอากาศ คว้ารางวัลชนะเลิศโครงการ ‘เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี’ ปี 2556 จัดโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) และบริษัทสามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ช่วงเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) เพชรบุรี สาขาคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์

คุณวชิรวัฒน์ ซึ่งปัจจุบันนั่งเก้าอี้ผู้บริหารด้านผลิตภัณฑ์บริษัทไอ ซี พี เอ็กซ์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายปุ๋ยตราม้าบิน เล่าว่า ชื่นชอบโดรนมา 15 ปีแล้วตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น และทำเกี่ยวกับทุกอย่างที่เกี่ยวกับโดรนหรืออะไรที่บินได้ โดยเข้าร่วมในโครงการหนูน้อยจ้าวเวหาของสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ที่มีนายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล เป็นนายกสมาคม และผลิตโดรนเกษตร ‘บัคอะเวย์’ มานานนับ 10 ปีแล้ว ปีนี้ได้ร่วมทุน กับบริษัทไอ ซี พีฯ ตั้งบริษัท ดีจีไอ โปรดักชั่น จำกัด พัฒนาโครงการโดรนต้นแบบเพื่อการเกษตร ภายใต้แบรนด์ Mah Bin (ม้าบิน)

ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในวงการโดรนมาตั้งแต่ยุคบุกเบิกบอกว่า การพัฒนาโดรนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ค่อนข้างไปได้เร็ว ซึ่งโดรนที่ใช้ในด้านการเกษตรพัฒนาจากขนาดเล็กกลายเป็นขนาดใหญ่ขึ้น ใส่ปุ๋ยที่มีขนาดใหญ่ขึ้น 1 กระสอบ หนัก 50 ก.ก. เดิมที 15 ก.ก. อยู่ในช่วงทดสอบและทดลองว่าจะใช้ได้ดีหรือไม่ จะเห็นได้ว่าโดรนมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน

ว่าไปแล้วโดรนปัจจุบันก็มีน้ำหนักเกินมาตรฐานกฎหมายทั้งหมด เพราะกฎหมายบังคับไม่เกิด 25 ก.ก. ถ้าไม่เกิน 25 ก.ก. เทียบกับโดรนบรรจุได้แค่ 10 ลิตร 10 ก.ก. เพราะ 25 ก.ก. นับรวมแบตเตอรี่และโดรนด้วย แต่โดรนปัจจุบันใช้ไปจนถึง 70-80 ก.ก. ข้อกฎหมายเหล่านี้เป็นอุปสรรคในการพัฒนา เพราะยังไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้อย่างถูกต้อง นอกจากอนุโลมว่าโดรนแต่ละประเภทมีข้อยกเว้น เช่น ข้อยกเว้นทางด้านการเกษตร

เมื่อถามว่าโดรนของ ‘บัคอะเวย์’ มีประสิทธิภาพเทียบเท่าของต่างประเทศหรือไม่อย่างไร คุณ วชิรวัฒน์แจงว่า ถ้าโฟกัสการนำน้ำหรือปุ๋ยเม็ดนำพาไปให้ไปตกอยู่บนทุ่งนาหรือไร่ตามที่ต้องการ อันนี้เทียบเท่า แต่ในเรื่องระบบเซ็นเซอร์ การคำนวณอัตราการฉีดพ่น เช่น ตอนนี้ฉีดพ่นไปแล้วกี่ลิตรแบบเรียลไทม์เลย ในส่วนนี้อาจตามหลัง อยู่ ในเรื่องของระบบเซ็นเซอร์ปลายทางว่าถ้าต้องการพ่นปุ๋ย 50 ก.ก. ให้ได้พื้นที่ 1 ไร่ ทำได้ไหม ทำได้เหมือนกัน กรณีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อาจสู้ไม่ได้เพราะเทคโนโลยีต้นทางต่างประเทศเป็นเจ้าของ อย่างพวกเซ็นเซอร์จึงได้เปรียบอยู่บ้าง แต่เรื่องเหล่านี้พัฒนาต่อไปได้

สำหรับราคาขายนั้น โดรนนำเข้า 2-6 แสนบาท แต่ถ้าเป็นโดรนที่ผลิตในไทยราคาอยู่ในช่วงไม่เกิน 1.5 แสนบาท มีประสิทธิภาพสามารถนำพาปุ๋ยและยาไปให้พืชได้เหมือนกัน ที่ผ่านมาแบรนด์บัคอะเวย์ เป็นเจ้าแรกในไทยที่ริเริ่มขายโดรนเกษตรอย่างเป็นทางการ ด้วยฝีมือ การผลิตของคนไทย ประโยชน์ของการใช้โดรนคือความแม่นยำ ในเรื่องของการใช้ออโต้ไพลอตใช้ GPS ไม่เกิดการทับซ้อนในเรื่องของการฉีดพ่น มีความสม่ำเสมอ ในการที่จะใช้น้ำยาพ่นถึงทั่วทั้งผืน ซึ่งได้รับการยอมรับมากขึ้น ปัจจุบันกลุ่มลูกค้ามุ่งเน้นเข้ามาซื้อโดยตรงเลย

ตัวชี้วัดที่เกษตรกรตื่นตัวในการใช้โดรน อาจเป็นช่วงของอายุคนที่เข้ามารับช่วง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ หรือการขาดแคลนแรงงาน เช่น ปัญหาโควิด แรงงานต่างด้าวกลับบ้าน หรือเกิดการระบาด เช่น เพลี้ยที่อยู่ในมันสำปะหลัง เกิดการระบาดและมีวงกว้างค่อนข้างเร็ว ภายใน 1-2 สัปดาห์ เสียหายเป็นแสนไร่ เพราะฉะนั้น โดรนก็มีบทบาทมาก

“แบรนด์ของเราผู้ซื้อมักบอกต่อกัน ถ้าเปรียบเทียบกับแบรนด์ต่างประเทศ ดูเรื่องของการนำเสนออาจดูดีกว่าในเรื่องของภาพลักษณ์ ดูเป็นอินเตอร์หน่อย เป็นสินค้านำเข้า แต่หากมองในเรื่องของประโยชน์ใช้งาน หรือการลงทุนแบบคุ้มค่า มองในเรื่องของผลลัพธ์ก็ไม่จำเป็น ต้องซื้อของนำเข้า การที่ซื้อของในประเทศ 1.ได้ราคาถูก 2.การเซอร์วิสที่ดี และอะไหล่มีครบ จึงนำจุดเด่นจุดนี้ไปทำการตลาดในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามบริษัทก็ได้นำเข้าสินค้าต่างประเทศเข้ามาควบคู่ด้วย เพื่อให้ลูกค้าเลือก

คุณวชิรวัฒน์ให้ข้อมูลอีกว่า กำลังผลิตโดรนโดยเฉลี่ย 30 เครื่องต่อเดือน เน้นขายในประเทศ แต่ก็มีลูกค้า อยู่ที่ประเทศมาเลเซีย พม่า เขมรบ้าง แต่เนื่องจากไม่มีศูนย์บริการในประเทศเพื่อนบ้าน เลยเป็นอุปสรรคในการให้บริการหลังการขาย ส่งผลให้ตลาดต่างประเทศยังไม่โตมากนัก ทั้งนี้ถ้าสนใจโดรนเกษตร เข้าไปดูได้ที่ https://www.bug-drone.com ตอนนี้มีศูนย์บริการทั่วประเทศ ประมาณ 20 สาขา

ผู้ก่อตั้งแบรนด์บัคอะเวย์พูดถึงแผนงานในอนาคตว่า โฟกัสเรื่องการลดต้นทุนการผลิต เพื่อทำให้สินค้าราคาถูก เกษตรกรสามารถจับต้องได้ สามารถใช้งานง่าย การควบคุมไม่ซับซ้อน โดยจะเน้นให้อัตโนมัติ ‘ออโต้’ มากขึ้น

ทั้งหมดนี้คงทำให้ได้เห็นกันแล้ว หนุ่มเมืองเพชรรายนี้เป็นผู้ประกอบการผลิต ‘โดรนเกษตร’ อีกคนที่โดดเด่นของบ้านเรา

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน