กทม. – เมื่อวันที่ 16 ม.ค. รายงานข่าวจากบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) แจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) เคที ซึ่งมี นายธงทอง จันทรางศุ เป็นประธานการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้ทนายความตัวแทนของบริษัทเข้ายื่นคำให้การต่อศาลปกครองในคดีที่ 2 ซึ่ง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอสซี) ยื่นฟ้อง กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเคที เพื่อให้ชำระหนี้ค่าเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเป็นจำนวนเงิน 10,600 ล้านบาท โดยศาลปกครองจะส่งสำเนาคำให้การของเคทีไปให้บีทีเอสซีในเร็วๆ นี้ มีประเด็นสำคัญที่บริษัท รายงานให้ศาลทราบดังนี้
1.สัญญาระหว่างบริษัทกับบีทีเอสนั้น นำมาสู่ข้อพิพาทระหว่างบริษัทเอกชนด้วยกันไม่ได้มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองจึงไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง 2.บริษัทไม่มีอำนาจเข้าทำสัญญาว่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง เพราะตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ลงวันที่ 25 ม.ค.2515 ในข้อ 4 ให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการรถราง และบริษัทก็ไม่เคยได้รับการอนุญาตจาก รมว.มท.
3.สัญญาจ้างที่บริษัททำกับบีทีเอสนั้นไม่ชอบ เพราะจงใจจัดทำขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาที่ฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี ขัดต่อกฎหมายหลายฉบับ ตลอดจนพ.ร.บ.ร่วมทุน 4.การที่บริษัทไปทำสัญญาว่าจ้างบีทีเอสให้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวโดยตรง โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้เอกชนรายอื่นที่อาจเสนอตัวเข้าร่วมโครงการ ย่อมส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนด้วย จึงเป็นสัญญาที่ไม่ชอบ และ5.การฟ้องคดีของบีทีเอสในคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะบีทีเอสทราบดีอยู่แล้วว่าบริษัทไม่สามารถดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ได้ด้วยตนเอง
ด้านนายประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้อำนวยการบริษัท เคที กล่าวว่า คำให้การในคดีที่ 2 นี้ มีความสมบูรณ์กว่าในคดีแรก และเป็นไปตามคาดการณ์ว่า บีทีเอสจะฟ้องคดีใหม่มาอีก จึงได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบเอกสาร รวบรวมข้อเท็จจริงเชิงลึกโครงการกว่า 30 ปี ตลอดจนข้อกฎหมายที่รอบด้านกว่าคดีแรก