สัปดาห์ก่อน ได้ร่วมคณะเดินทางตามคำเชิญของผู้บริหารสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ไปตามเกาะในอันดามันของ จ.ตรัง และกระบี่ เพื่อศึกษาการจัดการปัญหาขยะของฮีโร่ตัวเล็กๆ ที่กำลังต่อสู้กับปัญหาอยู่ตามเกาะและหมู่บ้านชายฝั่ง

ที่ดินที่ชุมชนเหล่านี้ตั้งอยู่ยังไม่ได้รับการจัดสรรเอกสารสิทธิที่ดินแปลงรวม ตามกติกาของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) พวกเขาจึงยังรอการประกาศพระราชกฤษฎีกาตามกติกาคนอยู่กับป่า ที่รัฐบาลเคยแก้ไขกฎหมายป่าไม้ไว้สำเร็จเมื่อปี 2562

บัดนี้การสำรวจปักปันเขตป่าที่เคยกำกวมเสร็จสิ้นเป็นส่วนมากแล้ว เหลือแต่ขั้นตอนการสำรวจยืนยันตัวตนของคนที่อยู่ในพื้นที่ โดยฝ่ายปกครองที่ยังไม่จบ

เมื่อไม่มีความแน่ชัดมั่นคงในเขตที่ดินอาศัยทำกิน ราษฎรท้องถิ่นจึงไม่กล้าลงทุนทำที่อยู่แบบลงทุนถาวร ผลคือคุณภาพชีวิตแทบทุกด้านยังขลุกขลัก ขาดโอกาสในการพัฒนาที่ยั่งยืน

ชุมชนเหล่านี้มักมีรายได้จากการประมงชายฝั่งเล็กๆ น้อยๆ สภาพของที่อยู่อาศัยเป็นไปแบบตามมีตามเกิด อาศัยในเขตป่าชายเลนที่น้ำทะเลท่วมถึง

ขยะทะเลจึงเป็นของชินตาของชุมชนมานานปีแล้ว

ขยะส่วนใหญ่เหล่านี้เดินทางมาไกล เพราะคลื่นพามาจากที่ไกลๆ พอสังเกตได้จากภาษาบนฉลากที่ติดอยู่ หลายชิ้นมาข้ามประเทศ และถ้าไปดูที่ประเทศนั้นๆ คงเจอขยะจากไทยที่ลอยไปติดบ้านเขาเช่นกัน

บางส่วนของขยะก็ดูใหม่เอี่ยม เพราะมาจากชาวเกาะ ชาวชุมชนชายฝั่ง ที่ต้องใช้สินค้ามีบรรจุภัณฑ์ไม่ต่างจากคนเมือง เช่น ขวดแชมพู กล่องนม เปลือกลูกอม ซองขนมขบเคี้ยว

บางครั้งขยะที่เห็นก็มาจากนักท่องเที่ยวที่ถือติดมา หรือเข้ามาซื้อสินค้าพร้อมบรรจุภัณฑ์ต่างๆ บนเกาะ หรือตามชุมชนชายฝั่ง

ขยะบางส่วนมาจากความจำเป็นของเรือประมงที่ต้องเตรียมวัตถุดิบอาหารในถุงพลาสติกใส่เรือแช่น้ำแข็งไว้ เพื่อออกทะเลทีละหลายๆ วัน มีลังโฟมเก่าๆ ใส่น้ำแข็งจำนวนมาก มีทั้งอวนมีทั้งแห ที่ใช้แล้วคลื่นซัดไปขูดกับแง่งหิน กลายเป็นขยะทะเล

มีเชือกที่ผูกยางรถยนต์หนักๆ แขวนข้างกราบเรือเพื่อป้องกันการเบียดกระแทก นานวันเข้าเชือกเปื่อยหลุดร่วงลงทะเลขณะกำลังแล่นโดยไม่รู้ตัว มีแกลลอนน้ำมันเครื่อง ตลับจาระบี สารพัดที่ต้องมีเพื่อบำรุงเครื่องเรือ

เหล่านี้ล้วนแต่เป็นขยะทะเลที่เก็บยาก ย่อยสลายไม่ได้ และมีแต่เพิ่มจำนวนขึ้น

การจะรวบรวมจึงยาก การรวมแล้วขนออกจากเกาะไปจัดการให้ถูกต้อง มีต้นทุนค่าเดินทางขนส่งสูง

ครั้นจะตั้งเตาเผาขยะอย่างมีมาตรฐานบนเกาะก็มีค่าลงทุนสูงเกินกำลังของเกาะ จะปล่อยชาวบ้านตั้งเตาเผากันเองก็จะเกิดปัญหาต่อสุขภาพของชาวบ้านเสียเอง เพราะเผาต่ำกว่า 600 องศาเซลเซียสจะเกิดสารก่อมะเร็งฟุ้งขึ้นมา

สิ่งที่พอทำได้ในเวลานี้คือการทำธนาคารขยะ ทำตลาดนัดขยะ บนเกาะ เพื่อให้ขยะถูกนำมารวบรวม เพื่อการขายให้ร้านรับซื้อบนฝั่ง

ความท้าทายของวิธีนี้คือ ต้องมีผู้ยอมออกทุนตั้งต้นให้เกิดการหมุนเวียน ต้องฝึกการคัดแยกขยะที่ได้มาไม่รู้จบตามคลื่นทะเลมาส่ง เพื่อจะได้คัดแยกใส่เรือกลับไปชั่งกิโลขายบนฝั่ง

แปลว่าถ้าเราหวงและห่วงเกาะเหล่านี้ ประชาสังคมและรัฐอาจต้องช่วยให้แต่ละเกาะมีทุนทรัพย์ตั้งต้น มีการจัดอบรมสร้างทีมบุคลากรนักบริหารขยะบนเกาะอย่างมุ่งมั่น ต้องมีระบบบัญชีควบคุม ติดตามยอด ต้องมีที่ดินที่ตั้งที่เหมาะสม

แต่สำคัญที่สุดคือทุกฝ่ายต้องมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อเรื่องนี้

เท่าที่ทราบ ตอนนี้ในไทยยังไม่มีที่ใดที่สามารถขจัดปัญหาขยะของเกาะได้สมบูรณ์แบบสักแห่ง

เกาะ เป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยว เพราะได้ไปอยู่ในที่ที่ไปถึงยาก มีอะไรไปรบกวนได้ช้ากว่า

ขยะบนเกาะเป็นหลักฐานสำคัญของการไปรบกวนธรรมชาติที่ต้องหยุดลงให้ได้ เพียงแต่มนุษย์ยังไม่มีสูตรสำเร็จในการจัดการมัน

ทางเลือกที่บางกลุ่มท่องเที่ยวเกาะเริ่มทำกันบ้างแล้วคืองดใช้พลาสติก โฟมเด็ดขาด หันมาพกกระติกน้ำกันเอง ทำระบบคูลเลอร์เติมน้ำ ใช้ใบหูกวางแทนใบตอง ใช้ปิ่นโต มีระบบลดราคาให้ถ้าลูกค้านำภาชนะมาซื้ออาหารทาน แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่หมูเลย ที่จะฝึกตัวเองจนชินเป็นนิสัย

อีกทางเลือกคือกำหนดหลักความรับผิดชอบที่ไปให้ถึงผู้ผลิตสินค้า ให้ต้องมีระบบคืนบรรจุภัณฑ์ ระบบออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะกับการจัดการง่ายขึ้นหลังบริโภค

ชุมชนเกาะมุกด์ เกาะกระดาน และชุมชนเกาะลันตา ตื่นตัวขึ้นมากต่อปัญหาขยะบนเกาะ แต่ปริมาณนักท่องเที่ยวก็มากจนเสี่ยงว่าเกาะสวรรค์เหล่านี้จะเสียหาย ไม่อาจรักษาตัวเองได้ ถ้าไม่เร่งใช้กติกาพื้นที่ที่เข้มงวดให้เต็มที่

ในความน่ากังวลนี้ เราได้เห็นนวัตกรรมดีๆ และกำลังใจของนักสู้ประจำถิ่นอีกหลายอย่าง

ขยะแหอวนของชุมชนมดตะนอย ของ จ.ตรัง ใช้ทักษะที่เคยใช้ซ่อมแหอวน มาเย็บร้อยเศษไนลอนของอวนเป็นถุงตาข่าย ขายได้ราคาเพราะเหนียวทน ขยายได้ใหญ่ เบา และใช้บรรจุขยะทะเลที่เปียกๆ ได้สะดวกกว่า ถุงดำมากๆ

ฝีมือทำอาหารท้องถิ่นของกลุ่มแม่บ้าน ชาวประมงที่นี่ก็อร่อย ประหยัดและสามารถทำได้พอดีกับจำนวนแขกที่มาอุดหนุนโดยไม่มีอะไรต้องเหลือ

ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ คณะเราได้ร่วมกันเป็นสักขีพยานการลงนามปฏิญญาของ 40 ภาคีเครือข่ายที่เกาะลันตา ที่ประสานงานผ่านเครือข่ายอันดามัน

ในงานลงนามนี้มีผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่เป็นประธาน มีอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผู้นำองค์กรในท้องถิ่นมาร่วมกันคับคั่ง

ผมจึงยินดีร่วมภาวนาขอให้พลังอย่างนี้สำเร็จ ผนึกมือกันแน่น ทันรับมือกับสะพานใหม่ที่จะเชื่อมแผ่นดินใหญ่กับเกาะลันตา ที่กำลังจะพาให้ความทะลักทลายของ ผู้มาเยือนทะลุขีดจำกัดของการท่องเที่ยวเกาะได้ทันเวลา

ส่วนพวกเราที่อยู่ห่างชายฝั่งทะเลก็ต้องพยายาม ‘ใช้พลาสติกอย่างรับผิดชอบ’ คัดแยกขยะ ช่วยพนักงานเก็บขยะให้ทำงานง่ายขึ้น และออกเที่ยวเดินทางไปไหนก็ช่วยเก็บขยะ ไปลงถัง

เพื่อสร้างนักท่องเที่ยวคุณภาพและ รับผิดชอบกันให้มากๆ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติฯ วุฒิสภา
อดีต รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน