การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าย่อมส่งผลกระทบต่อเรื่องงบประมาณ เพราะอีกไม่กี่เดือนจะสิ้นปีงบประมาณ ขณะที่มุมมองของต่างประเทศแปลกใจว่าทำไมการตั้งรัฐบาลเป็นไปได้ยากมาก เช่นเดียวกับคนในประเทศที่หวั่นว่าจะมีการพลิกล็อกอีกหรือไม่

กรณีส.ว. 250 เสียง ควรต้องปรับปรุงแก้ไข ไม่ควรให้เสียงประชาชนมีน้ำหนักน้อยกว่าเสียงของส.ว. 250 เสียง

การจัดตั้งรัฐบาลตามหลักความชอบธรรมควรเป็นพรรคที่มาจากเสียงประชาชนส่วนใหญ่เลือกมา เช่นเดียวกับตำแหน่งนายกฯ แต่วันนี้เรายังคงอยู่กับบรรยากาศที่มีแต่ความไม่แน่นอน

สิ่งหนึ่งที่มีปัญหาชัดเจนคือรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ระบบตรวจสอบยังมีข้อสงสัย ยกตัวอย่าง ป.ป.ช. นักการเมืองบางคนถูกตรวจสอบง่ายและเร็ว บางคนไม่ถูกตรวจสอบ

รัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาควรเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะองค์กรอิสระทั้งหมด ควรให้ยึดโยงกับประชาชน เป็นอิสระจริงๆ จัดระเบียบใหม่ และให้มีการเลือกตั้งใหม่ น่าจะทำให้มีความหวังที่ชัดเจนขึ้น

ในส่วนของระดับกระทรวง อย่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีบทบาทดูแลทั้งเรื่อง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็กเยาวชน ผู้หญิง แต่กลับเป็นกระทรวงเล็ก งบประมาณน้อย และยังไม่เห็นบทบาทเชิงรุกของกระทรวงนี้

การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าย่อมส่งผล กระทบต่อเรื่องงบประมาณ เพราะอีกไม่กี่เดือนจะสิ้นปีงบประมาณ

นอกจากนี้ ยังมีกระทรวงศึกษาธิการ ในการส่งเสริมความรู้และคุณภาพชีวิตของเด็กเยาวชน ประชาชน, กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม ที่มีบทบาทคุ้มครองประชาชนไม่ให้ถูกละเมิด, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปฏิรูปออกมาแล้วแต่ตำรวจยังคงเป็นที่พึ่งของประชาชนได้จริงหรือไม่

ฉะนั้นคนที่จะเข้ามาทำหน้าที่รัฐมนตรี ประการสำคัญคือต้องมีความรู้ ความจริงใจที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงกระทรวงนั้นๆ รวมทั้งควรเปิดรับฟังเสียงของประชาชนด้วย ที่สำคัญคือเปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถตรวจสอบรัฐมนตรีได้

ฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ ต้องรับฟังข้อเสนอแนะของประชาชน แก้กฎหมายต่างๆ ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อปูพื้นฐานของประชาธิปไตยให้เป็นจริงได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน