นายกฯ เศรษฐา สั่งตั้งคณะกรรมการพิเศษด่วนที่สุด รับมือผลกระทบเอลนีโญ พร้อมศึกษาออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในต่างจังหวัดที่ได้รับความเสียหาย 6 แสน ถึง 2 ล้านล้านบาท
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบรายงานผลกระทบเอลนีโญ ที่ได้รับการยืนยันจากทั่วโลก รวมทั้งไทย โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จะไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงปีเดียว แต่อาจมีผลกระทบต่อเนื่องสูงสุดถึง 3 ปี ซึ่งหากไทยมีแผนรับมือไม่ดี อาจสร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่าขั้นต่ำ 600,000 ล้านบาท และสูงสุด 2 ล้านล้านบาท
“นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการพิเศษด่วนที่สุด เพื่อรับมือผลกระทบจากเอลนีโญ โดยศึกษาความเป็นไปได้ในการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในต่างจังหวัด เพื่อออกมาตรการรับมือผลกระทบได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากหากต้องรอขั้นตอนการขอตั้งงบประมาณตามระบบราชการแบบเดิม อาจไม่ทันสถานการณ์”
ทั้งนี้ การออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจากส่วนกลาง จะทำให้ส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และเทศบาลที่มีเงินงบประมาณ เงินทุนสำรองมากพออยู่แล้ว สามารถนำเงินออกมาใช้จ่ายได้ทันท่วงที เช่น การสร้างฝาย ฝายซอยซีเมนต์ ธนาคารน้ำใต้ดิน ที่เป็นโครงการไม่ใหญ่มาก ใช้งบไม่เยอะ สามารถใช้งบท้องถิ่นดูแลได้
นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบเรื่องการฟื้นฟูธุรกิจประมงให้กลับมาเป็นผู้นำในโลก หลังจากก่อนหน้านี้ไทยเคยเป็นผู้ส่งออกสินค้าประมงอันดับหนึ่ง โดยจะตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูทะเลไทย เพื่อแก้ปัญหาประมงไทยอย่างยั่งยืน ให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการ
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กระทรวงเร่งตั้งศูนย์บริการประชาชน ภาคการเกษตรทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ให้เกษตรกรร้องเรียนปัญหาต่างๆ และจะแก้ไขได้ตรงจุด ซึ่งปัญหาภัยแล้งที่เป็นผลกระทบจากภาวะเอลนีโญนั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเร่งเตรียมรับมือและแก้ไข โดยจะหารือกับผู้บริหารที่เกี่ยวกับการเก็บน้ำและการเติมน้ำในเขื่อน ทั้งกรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อวางแนวทางรับมือ
“แผนรับมือเอลนีโญต้องครอบคลุมทั้ง 3 ปี แบ่งเป็นแผนระยะสั้น กลางและยาว เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด ที่เห็นชัดที่สุดขณะนี้คือ เกิดขึ้นกับผลผลิตข้าว ที่นาข้าวเสียหายเป็นจำนวนมาก”