ควันหลงจากฟุตบอล “จตุรมิตร” ยังคงอยู่เมื่อปรากฏชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ครานี้มิได้เป็นเรื่องของฟุตบอล หากแต่เป็นเรื่องของ “การแปรอักษร” เมื่อมีคนหยิบข้อมูลจาก “วิกิพีเดีย” มาถกเถียงอภิปรายอย่างร้อนแรง
ตกลง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เข้าร่วม “แปรอักษร” เมื่อไหร่
ที่ “วิกิพีเดีย” ระบุว่าเข้าร่วมตอนเรียนประถมและ ตอนอายุ 10 กว่าขวบ ทั้งยังเป็นการเข้าร่วมถึง 2 ครั้ง เป็นความจริง หรือเป็นเพียงการคุยโวโอ้อวด
นี่ย่อมเป็น “ปฏิกิริยา” อันเป็นการ “ดิสเครดิต” ด้อยค่า
มีความพยายามในการด้อยค่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ชัดเจนในฟุตบอล “จตุรมิตร”
ตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ ก็คือ การปรากฏขึ้นของชาย สวมเสื้อ “เทพศิรินทร์” ไปร้องตะโกนไล่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่นั่งอยู่ในอัฒจันทร์
จากนั้นก็ปรากฏเป็น “คลิป” แพร่กระจาย
แม้ความจริงที่แสดงในภายหลังชายที่สวมเสื้อ“เทพศิรินทร์” นั้นเป็นคนของสำนักข่าวชื่อดังสำนักหนึ่งที่ไม่ชอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อยู่แล้ว
กระนั้น ปฏิกิริยานั้นก็ถูกชูเด่นเป็นประเด็นดัง
ถามว่าปฏิกิริยาที่กระทำซึ่งหน้า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เช่นนี้สะท้อนอะไร
คำตอบ 1 สะท้อนให้เห็นว่าความขัดแย้งในทางความคิด ความขัดแย้งในทางการเมืองได้แพร่ลงไปแม้กระทั่งในพื้นที่ของการแข่งขันกีฬา
คำตอบ 1 สะท้อนสถานะของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ความผิดของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นความผิด ที่สามารถเข้าใจได้ เพราะความดังของเขาเองนั้นแหละทำให้มีคนหงุดหงิด มีคนไม่พอใจ
การขุดคุ้ยจึงลงลึกไปถึงระดับ “ประถม” เพื่อประจานให้เสียหาย
ตัวของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ย่อมตระหนักดีว่าสาเหตุของ “ปฏิกิริยา” มาอย่างไร
ทุกอย่างจึงเหมือนกับเป็นเงาสะท้อนแห่งพัฒนาการ ในทาง “เทคโนโลยี” และการนำเอา “เทคโนโลยี” มาเป็นเครื่องมือสำคัญในทางการเมือง
คือ พลานุภาพแห่ง “ดิจิทัล ฟุตพรินต์” อย่างเป็นรูปธรรม