ศาลาว่าการกทม. – เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เรื่องการโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล-ทองหล่อ และสายสีเงิน บางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

นายวิศณุกล่าวว่า ตามมติที่ประชุม คจร.มอบกทม.ดำเนินการทั้ง 2 สาย โดยจะโอนภารกิจดังกล่าวให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รับไปดำเนินโครงการแทน เนื่องจากเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเทา และสายสีเงิน มีแนวเส้นทางและจุดตัดเชื่อมต่อหลายจุดกับเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของรฟม. อาทิ สายสีเทาตัดสายสีชมพู ที่จุดตัดถนนรามอินทรา จุดตัดสายสีน้ำตาล ถนนเกษตร-นวมินทร์ จุดตัดสายสีเหลือง ถนนลาดพร้าว และสายสีเทา ตัดกับสายสีเขียว ที่แยกบางนา ตัดกับสายสีเหลือง ที่จุดตัดถนนศรีนครินทร์

นายวิศณุกล่าวว่า กทม.พิจารณาแล้วเห็นว่า ควรโอนรถไฟฟ้าทั้ง 2 เส้นทางให้รฟม.ดำเนินการจะเหมาะสมกว่า อีกทั้งจะเกิดประโยชน์ทั้งเรื่องการกำกับดูแล การบริหารจัดการ รวมถึงการกำหนดอัตราค่าโดยสาร โดยเฉพาะการยกเว้นเก็บค่าแรกเข้าเมื่อเปลี่ยนถ่ายข้ามระบบ ปัจจุบันผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู นั่งข้ามระบบไปสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง ไม่ต้องจ่ายค่าแรกเข้า ภายในสัปดาห์นี้จะส่งเรื่องให้ สนข.เพื่อกำหนดเป็นวาระเสนอที่ประชุม คจร.พิจารณาต่อไป

นายวิศณุกล่าวต่อว่า ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย บางหว้า-ตลิ่งชัน ถือว่าเป็นนโยบายการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ กทม.จะเร่งรัดดำเนินการเพื่อให้โครงข่ายระบบขนส่งมวลชนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งโครงการดังกล่าวเคยมีการศึกษาเบื้องต้น และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หากจะดำเนินการจริงจะต้องมีการศึกษาทบทวนรายละเอียด ความเหมาะสมอีกครั้ง จึงได้มอบให้สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษา โดยเสนอใช้งบประมาณปี 68 จำนวน 24 ล้านบาท ใช้เวลาศึกษา 12 เดือน หรือ 1 ปี

ขณะที่ฝ่ายบริหารให้ความเห็นว่าการเสนอขอใช้งบประมาณปี 68 ตามขั้นตอนอาจจะใช้เวลา จึงเสนอให้ใช้งบกลางมาดำเนินการ แต่มีข้อจำกัดเรื่องกรอบเวลาศึกษาต้องแล้วเสร็จภายใน 270 วัน ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสมจะเลือกแนวทางใด

สำหรับแนวเส้นทางส่วนต่อขยาย มีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายสายสีลม ตากสิน-เพชรเกษม ที่สถานีบางหว้า จากนั้นไปตามแนวเกาะกลางถนนราชพฤกษ์ มาสิ้นสุดบริเวณทางลาดลงของสะพานข้ามรถไฟชานเมืองสาย สีแดงบางซื่อ-ตลิ่งชัน มี 6 สถานี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน