วิเคราะห์การเมือง : กรณี หม่อมอุ๋ย เรื่องส่วนรวม ส่วนตัว จุดแบ่ง สำคัญ
วิเคราะห์การเมือง : ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ล้วนพยายามทำให้ข้อเขียนอันมาจาก ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล มีลักษณะเป็นเหมือนกับ “เรื่องส่วนตัว”
เห็นได้จากคำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ไปถามว่าเขาหวังผลอะไร”
เห็นได้จากคำถามของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ “ไปถามตัวมันดูสิ”
บรรดาคนที่ออกมาปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็วนเวียนอยู่กับเหตุผลที่ว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หงุดหงิดไม่พอใจเพราะถูกปรับออกจากตำแหน่ง “รองนายกรัฐมนตรี”
กลายเป็นเรื่องไม่พอใจต่อ “ทีมเศรษฐกิจ” ชุดใหม่
ทั้งๆ ที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ตั้งหัวข้อเรื่องอย่างแจ่มชัด “8 เหตุผลที่ผมไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีก”
ชัดอย่างยิ่ง ตรงเป้าอย่างยิ่ง
เหมือนกับบางประเด็นที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หยิบยกขึ้นมาจะใกล้เคียงกับ “เรื่องส่วนตัว” แต่ก็ต้องถามต่อไปว่ามันสัมพันธ์กับ “เรื่องส่วนรวม” หรือไม่
อย่างเช่นการเปิดโอกาสให้พวกพ้องที่เป็น “ทหาร”
อย่างเช่นการไม่ยอมพูดตาม “โพย” ที่ฝ่ายงานประจำ ตระเตรียมไว้ให้ทั้งๆ ที่เป็นการพูดในฐานะของนายกรัฐมนตรี เป็นการพูดในตำแหน่งในที่ประชุมระหว่างประเทศ
กลายเป็นการเอาเรื่อง “ภายใน” ออกไปประจาน “ภายนอก”
ความหมายอย่างตรงเป้าที่สุดก็คือ ไม่สามารถจำแนกแยกแยะความรู้สึก “ส่วนตัว” ออกจากผลประโยชน์ของ “ประเทศ” ออกได้
ความสัมพันธ์จึงยุ่งเหยิง นัวเนียไปหมด
หากจะมองและประเมินว่ามีความเป็น “ส่วนตัว” อยู่บ้างก็ตรงที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล มีพื้นฐานความสัมพันธ์อย่างเป็นส่วนตัวกับ “คสช.” อยู่บ้าง
แต่สิ่งเหล่านี้ก็หมดไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2558
และหากใครก็ตามที่อ่านข้อเขียนยาวเหยียดของ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล ตั้งแต่เหตุผลข้อที่ 1 กระทั่งถึงเหตุผลข้อที่ 8 ก็จะสามารถสรุปได้ว่า
ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงไม่ควรเป็น “นายกรัฐมนตรี” ต่อ
เป็นเหตุผลที่มากด้วยน้ำหนัก ไม่ว่าจะมองจากมุมของ “นายธนาคาร” ไม่ว่าจะมองจากมุมของคนเคยเป็น “รัฐมนตรี”
จึงแทนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะใช้ลีลาแห่งโวหารออกมาเบี่ยงเบนประเด็น ที่ควรจะทำก็คือ ความจริงจัง
อะไรบ้างที่ไม่จริง อะไรบ้างที่ไม่ถูกต้อง
ไม่ว่าจะโดยตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่า จะโดยทีมงานโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีความจำเป็น ต้องแถลงอย่างเป็นรูปการณ์จริงจัง
ไม่ใช่ทีเล่นทีจริง หรือสำแดงเพียง “โวหาร” เอาตัวรอด