บทเรียน 2535 รัฐธรรมนูญ ฉบับ “รสช.” กระบวน แก้ไข – ยิ่งข้อเรียกร้องในเรื่อง “รัฐธรรมนูญ”ทวีความร้อนแรง ปัญหายิ่งแสดงตัว

อย่าได้ตกใจไปเลยหากจะเห็น ส.ว.อย่าง นายเสรี สุวรรณภานนท์ ออกมายืนขวางไม่ยอมให้มีการแตะไปยัง 250 ส.ว.

เพราะนั่นคือสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น

ไม่เพียงแต่ ส.ว.อย่าง นายเสรี สุวรรณภานนท์ เท่านั้น เชื่อได้เลยว่า หลายคนในพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคที่ยังสงบเงียบอยู่ ยิ่งข้อเรียกร้องร้อนแรงก็จะยิ่งเผยแสดง

ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทย

ถามว่าเหตุปัจจัยใดทำให้กรณี “รัฐธรรมนูญ” กลายเป็นกระแสของสังคม

เพราะว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มิใช่ว่าเพิ่งจะถูกต่อต้าน ตรงกันข้าม มีการต่อต้านตั้งแต่ยุค นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ต่อเนื่องมายังยุค นายมีชัย ฤชุพันธุ์

เนื่องจากรู้อยู่เป็นอย่างดีว่าอะไรคือ“เป้าหมาย”ในการยกร่าง

แต่ไม่ว่าคสช. ไม่ว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล้วนไม่เคยแยแสสนใจเพราะมีความมั่นใจในอำนาจที่อยู่ในมือของตน

ต่อเมื่อเกิดปรากฏการณ์“เยาวชนปลดแอก” ต่างหากที่เริ่มตระหนก

ต้องยอมรับว่าพลังของ“เยาวชนปลดแอก” เริ่มส่งผลสะเทือนยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้น

เพราะว่าการชุมนุมในตอนค่ำวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม บนถนนราชดำเนิน ได้รับการขานรับอย่างคึกคักและกว้างขวาง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการแก้ไข “รัฐธรรมนูญ”

หากว่า “เยาวชนปลดแอก” สามารถเลี้ยงและทำให้กระแสนี้เติบใหญ่ขยายตัวไปในขอบเขตทั่วประเทศจากมือนักเรียน นิสิตนักศึกษาไปอยู่ในมือของ“ประชาชน”

ตอนนั้นแหละกระแสก็จะกลายเป็น“พลัง” อันใหญ่หลวง

ขอให้นึกถึงการจัดการกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 ว่าเป็นอย่างไร

การคัดค้านในเบื้องต้นรสช.สนใจหรือไม่ ตอบได้เลยว่า ไม่สนใจ ไม่คิดจะแก้ แต่เมื่อผ่านการต่อต้านด้วยมวลชนมหาศาลในเดือนพฤษภาคม 2535

การแก้ไขก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและอย่างเหลือเชื่อ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน