คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง
ศึกวัน ทรงชัย – การประชุมรัฐสภาในวันอังคารที่ 17 และวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน สำคัญ
สำคัญไม่เพียงเพราะวาระสำคัญของการประชุมคือการพิจารณาลงมติว่าจะรับ หรือไม่รับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่เสนอเข้ามา
ไม่ว่าของรัฐบาล ไม่ว่าของฝ่ายค้าน ไม่ว่าของประชาชน
การตัดสินใจอันมาจาก 250 ส.ว.จะเป็นไปในทิศทางใด การตัดสินใจอันมาจากพรรคพลังประชารัฐจะเป็นไปในทิศทางใด การตัดสินใจอันมาจากพรรคร่วมรัฐบาลจะเป็นไปในทิศทางใด
ล้วนเป็นปัจจัยชี้ “อนาคต” ของการเมืองไทย
ท่าทีอันมาจาก 250 ส.ว. ท่าทีอันมาจาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ สำคัญ
เริ่มจากท่าทีอันยืนยันในเบื้องต้นตามแนวทางของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามแนวทางของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่นก็คือ ไม่ต้องการ แก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น
เนื่องจาก “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา”
สัมผัสได้จากการเตะถ่วงหน่วงเวลาอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู โดยเฉพาะท่าทีการเสนอจัดตั้ง “คณะกรรมาธิการ” เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา
รวมถึงการจะประเคนบทบาทให้กับ “ศาลรัฐธรรมนูญ”
ไม่ว่า 250 ส.ว.จะลงมติอย่างไร พรรคพลังประชารัฐจะลงมติอย่างไร ย่อมมีผลสะเทือน
มิได้เป็นผลสะเทือนต่อสถานะและเกียรติภูมิในทางการเมืองของ 250 ส.ว.เอง มิได้เป็นผลสะเทือนต่อสถานะและเกียรติในทางการเมืองของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐเอง
หากแต่ยังกระทบต่อพรรคร่วมรัฐบาลอย่างแน่นอน
ยิ่งกว่านั้น ยังกระทบต่อสถานะ เกียรติภูมิและ การดำรงอยู่ในทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อย่างมิอาจปัดปฏิเสธได้
นี่ย่อมเป็นวินาทีสำคัญในทางการเมือง ของไทย
จากนี้จึงเห็นได้ว่าการตัดสินใจในวันอังคารที่ 17 วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน ทรงความหมาย
ทรงความหมายต่ออนาคตในทางการเมืองของรัฐบาล ต่ออนาคตในทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี
นี่คือปัจจัยอันเป็นจุดตัดอย่างสำคัญในทางการเมือง