คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

บทเรียน เลือกตั้ง – อย่าคิดว่ามีแต่พรรคเพื่อไทยเท่านั้นที่แตก “แบงก์พัน” ออกอย่างยิบย่อย

ยิบย่อยผ่านการเคลื่อนไหวของพรรคไทยรักษาชาติ ผ่านการขยับไปยังชายแดนภาคใต้ผ่านพรรคประชาชาติ ผ่านการออกโรงโดยพรรคเพื่อชาติอย่างคึกคัก

หากแม้กระทั่ง “คสช.” เองก็ไม่ยอมเป็น “เป้านิ่ง”

นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวของ “กลุ่มสามมิตร” ร่วมกับ “กลุ่ม 4 กุมาร”กระทั่งพัฒนาเติบใหญ่กลายเป็นพรรคพลังประชารัฐอันมากด้วย “พลังดูด” อย่างมหาศาล

หากก็ยังมี “ดาวบริวาร” แวดล้อมด้วยความอบอุ่น

ความจริง ความคิดในการแตก “แบงก์พัน” ทางการเมืองนั้นเริ่มมาจากคสช.

เห็นได้จากหลังประสบชัยชนะในการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 นายไพบูลย์ นิติตะวัน ก็ประกาศแนวคิดในการจัดตั้ง “พรรคประชาชนปฏิรูป”

หวังจะอาศัย 16 ล้านเสียงจากประชามติมาเป็นทุน

ก่อนการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 ก็มีพรรคการเมืองมากมายออกเคลื่อนไหวโดยเป้าหมายเพื่อหนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีสืบทอดอำนาจต่อไป

นอกจากพรรคพลังประชารัฐยังมีพรรครวมพลังประชาชาติไทย

ยิ่งผ่านการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 มาแล้วการเคลื่อนไหวยิ่งคึกคัก

เพราะไม่เพียงแต่พรรคประชาชนปฏิรูปของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน จะยุบผนวกเข้ากับพรรคพลังประชารัฐ หากยังมีพรรคขนาดเล็กตระเตรียมแนวทางนี้

ยิ่งคนของพรรคประชาธิปัตย์ยิ่งมากด้วยความคึกคัก

เราเห็นการแยกตัวออกมาของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม เราเห็นการแยกตัวออกมาของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รวมถึง นายกรณ์ จาติกวณิช

เชื่อได้เลยว่าจะต้องมีพรรคใหม่ให้กับอดีต “ประชาธิปัตย์” แน่นอน

การเคลื่อนไหวในลักษณะแตก “แบงก์พัน” ทางการเมืองเช่นนี้สะท้อนอะไร

ไม่ว่าจะเป็นคำตอบจากพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็นคำตอบจากพรรคเพื่อไทย หมายความว่าโอกาสที่จะแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมีโอกาสน้อยมาก

การเลือกตั้งในปี 2566 จึงน่าจะซ้ำรอยการ เลือกตั้งในปี 2562

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน