คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

บทเรียน ชุมนุม – อุบัติแห่งสถานการณ์ #ม็อบ 24 มีนาคม เป็นอุบัติแห่งการริเริ่ม “ใหม่” ประสาน “เก่า”

ที่รับรู้ว่าเป็นการชุมนุมในแบบ “เก่า” นั้นเด่นชัดอย่างยิ่งจากคำประกาศที่ว่า เป็นการชุมนุมที่มี แกนนำ เป็นการชุมนุมที่มีเวที เป็นการชุมนุมที่มีการปราศรัย

นี่ย่อมต่างไปจากกรณีของ REDEM

กระนั้น ภายในการย่ำซ้ำไปกับรอยเส้นทางเดิม ที่เคยกระทำกันโดยเฉพาะอย่างอึกทึกครึกโครมเมื่อเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม 2563 กลับมี “กลิ่นอาย” ใหม่

เป็น “กลิ่นอาย” แห่งความรอบคอบ รัดกุม

หากไม่เกาะติดบทบาทของ น.ส.เบนจา อะปัญ และ น.ส.มายด์ ภัสราวลี จะไม่รู้

เพราะจังหวะก้าวสำคัญก็คือ น.ส.เบนจา อะปัญ กับ น.ส.มายด์ ภัสราวลี พร้อมด้วย “ครูใหญ่” ได้เดินทางยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

เรียกร้องให้ออกมาดูแล คุ้มครองความปลอดภัย

ขณะเดียวกัน เมื่อมีการสอบถามถึงสถานที่อันเป็น “เป้าหมาย” ของการชุมนุม ทางแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมยืนยันให้รอรับทราบเวลา 13.00 น.ของวันที่ 24 มีนาคม

เวลาจาก 13.00 น. ไปยังเวลา 17.00 น. จึงสำคัญ

ความสำคัญในที่นี้เป็นความสำคัญสำหรับทางด้านของ “หน่วยควบคุมฝูงชน”

เพราะเมื่อไม่ทราบว่าแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จะนัดหมายการชุมนุม ณ สถานที่ใด การจัดวางกำลังเพื่อเตรียมรับมือจึงมีความไม่แน่นอน

รวมถึงความไม่แน่นอนในการขนตู้ “คอนเทนเนอร์”

นี่ย่อมเป็น “ยุทธวิธี” ที่มีการปรับตัวให้ปรับรับกับบทเรียนของสถานการณ์ #ม็อบ 20 มีนาคม อันร้อนแรงมาแล้วอย่างคมแหลมยิ่ง

“ยุทธวิธี” มีการปรับ แต่สำหรับ “ยุทธศาสตร์” ไม่แปรเปลี่ยน

จากกรณีของ REDEM มายังแนวร่วมธรรมศาสตร์ และการชุมนุมสะท้อนอะไร

เด่นชัดอย่างยิ่งว่าในท่ามกลางการใช้มาตรการเข้มในการจัดการกับการชุมนุม บรรดาเยาวชนคนรุ่นใหม่ ก็มีการปรับยุทธวิธี สรุปบทเรียนจากการเคลื่อนไหวอย่างสอดประสานไปด้วย

ทุกการเคลื่อนไหวย่อมให้ “บทเรียน” อย่างทรงความหมาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน