หงุดหงิด การเมือง ระหว่าง พรรค “ร่วม” รัฐบาล กับ “พลังประชารัฐ” : วิเคราะห์การเมือง

ควันหลงจากสถานการณ์ในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อคืนวันที่ 17 มีนาคม ยังมีตกค้าง

เป็นอารมณ์ตกค้างไม่เพียงแต่จะสัมผัสได้ในความลิงโลดของ 2 องคาพยพสำคัญทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นภายในพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็นภายใน 250 ส.ว.

รวมถึงการออกมาท้าทายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป็นการท้าทายด้วยความมั่นใจเป็นอย่างสูงในอำนาจที่มีอยู่ในมือ นั่นก็คือ อำนาจของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อันเป็นอาวุธสำคัญในการสืบทอดอำนาจ

นั่นคือ ท้าทายให้แก้ไข “รัฐธรรมนูญ” ให้จงได้

คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจพุ่งเป้าไปยังบรรดา “ฝ่ายค้าน” เป็นหลัก

แต่อย่าลืมเป็นอันขาดว่า ภายในรัฐบาลยังมีพรรคประชาธิปัตย์ที่มีความต้องการเป็นอย่างสูงในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

เปลี่ยนประชาธิปไตย “ทุจริต” เป็นประชาธิปไตย “สุจริต”

จากพื้นฐานความคิดเช่นนี้เองในการตกลงเข้าร่วมรัฐบาลและขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีจึงมี “เงื่อนไข” นี้อย่างจำหลักหนักแน่น

ปรากฏผ่าน “นโยบายเร่งด่วน” ของรัฐบาล

การตัดสินใจคว่ำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเมื่อคืนวันที่ 17 มีนาคมจึงสำคัญ

สำคัญไม่เพียงเพราะว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมนี้เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล หากแต่ถูกคว่ำอย่างไม่เป็นกระบวนจากภายในพรรคพลังประชารัฐและ 250 ส.ว.

เท่ากับ “รัฐบาล” ปฏิเสธร่างของรัฐบาลด้วยรัฐบาลเอง

ยิ่งหลายคนจากพรรคพลังประชารัฐประสานกับหลายคนใน 250 ส.ว.ออกมาเยาะเย้ยหยามหยันพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยว่าทำไมยังร่วมรัฐบาลอยู่

ยิ่งสร้างความหงุดหงิด น้อยเนื้อต่ำใจ

ยากเป็นอย่างยิ่งที่พรรคภูมิใจไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์จะถอนตัวจากรัฐบาล

แต่ก็ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้กระทั่งไม่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ย่อมมีความไม่พอใจต่อพรรคพลังประชารัฐอยู่ลึกๆ

ความไม่พอใจนี้อาจเป็น “ประเด็น” ได้หากอยู่ในสถานการณ์ที่เหมาะสม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน