คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

สัญญาณ การเมือง – การปราศรัยของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ณ อนุสรณ์สถาน ตุลาคม 2516 สำคัญ

สำคัญเพราะไม่เพียงแต่สะท้อนถึงสถานะและการดำรงอยู่ในทางประวัติศาสตร์ของวีรชนผู้เสียสละจากสถานการณ์ล้อมปราบเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 เท่านั้น

หากแต่ขับเน้นถึงเมื่อเดือนตุลาคม 2516 ด้วย

เพราะเจตนาในการล้อมปราบประชาชนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อเดือนตุลาคม 2516 กับเจตนาในการ “กระชับพื้นที่” ในคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 ไม่แตกต่างกัน

นั่นก็คือ ต้องการเข่นฆ่า ต้องการทำลายล้าง “ประชาชน”

คําถามอันแหลมคมจากปากของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นคำถามถึงผลงาน ความสำเร็จ

หากนำเอาการปราบปรามของผู้มีอำนาจในเดือนตุลาคม 2516 มาเปรียบเทียบกับการปราบปรามของผู้มีอำนาจในเดือนเมษายน 2553 ก็จะเห็นได้ชัด

ชัดว่าประสบความสำเร็จหรือว่าล้มเหลว

หากประสบความสำเร็จ “จิตวิญญาณ”เดือนตุลาคม 2516 ก็จะไม่ดำรงคงอยู่ หากประสบความสำเร็จ “จิตวิญญาณ”แห่งการต่อสู้เมื่อเดือนเมษายน 2553 ก็จะไม่ดำรงคงอยู่

ตัวตนของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นั่นแหละคือประจักษ์พยานยืนยัน

ประเด็นอันแหลมคมยิ่งกว่านั้นคือการเชื่อม “อดีต”กับความเป็นจริงใน “ปัจจุบัน”

การลุกขึ้นมาของคนรุ่นใหม่ผ่าน“เยาวชนปลดแอก” เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 กระทั่งยกระดับและพัฒนาเป็น“คณะราษฎร”ในเดือนตุลาคม

นำไปสู่การเพรียกหา “วีรกรรม” ของ “คนเสื้อแดง”

การตื่นขึ้นมาของ “คนรุ่นใหม่” ไม่เพียงแต่ทำให้ความหมายของ “คนเสื้อแดง” สำแดงพลานุภาพ หากแต่ยังทำให้เกิดการเชื่อมประสานระหว่างอดีตกับปัจจุบัน

เป็นอดีตแห่ง“การต่อสู้” เป็นปัจจุบันแห่ง “การเคลื่อนไหว”

คําปราศรัยของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จึงเท่ากับเป็น “สัญญาณ” ในทางการเมือง

เป็นสัญญาณที่ไม่เพียงแต่บทบาทของ “คนเสื้อแดง” จะมีส่วนทำให้คนรุ่นใหม่ได้ตื่นขึ้นมา หากแต่การเคลื่อนไหวของ“คนรุ่นใหม่”ก็เป็นกำลังใจให้กับ “คนเสื้อแดง”

ในที่สุด ก็สามารถประสานเชื่อมกลายเป็น“พลังใหม่”ในการต่อสู้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน