คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ในที่สุด การถกเถียงแนวโน้มของการ “ยุบสภา” ก็เริ่มมี “คำตอบ” ร่วม

ไม่ว่าจะเป็นการหลุดคำว่า “ยุบสภา” จากปาก นายวิษณุ เครืองาม ก่อนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ และก่อนการพิจารณาพระราชกำหนดเงินกู้

แม้จะเป็นการอ้าง “หลักกฎหมาย” แต่ก็ถูกตีความว่าเหมือนเป็น “การขู่”

เพราะเป้าหมายในการพูดมิได้อยู่ที่ฝ่ายค้าน หากแต่อยู่ที่พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา

และผลก็สะท้อนให้เห็นว่า “คำขู่” ประสบผลสำเร็จ

ต้องยอมรับว่า “คำขู่” นี้ดำรงอยู่บนรากฐานที่แข็งแกร่งด้านจำนวนของรัฐบาล

นั่นก็คือ ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านมีเพียง 200 กว่า เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีอยู่ในมือมีจำนวนมากถึง 270 กว่า เป็นความเหนือกว่าอย่างเด่นชัด

ยิ่งกว่านั้น ภายในฝ่ายค้านก็ยังมี “งูเห่า” แฝงตัวอยู่

เห็นได้จากการลงมติที่มีการแตกแถวปรากฏผ่าน ส.ส.จำนวนหนึ่งของพรรคเพื่อไทยอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการลงมติที่พร้อมจะสวนทางโดยสิ้นเชิงของ ส.ส.พรรคก้าวไกล

ถามว่าแล้วเหตุใดกระแส “ยุบสภา” จึงกระหึ่ม ไม่ขาดสาย

คําตอบในเบื้องต้นก็คือ ความรู้สึก “ร่วม” ในทางสังคมที่เริ่มสิ้นหวัง

และไม่มีความมั่นใจต่อกระบวนการบริหารจัดการของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เด่นชัดอย่างที่สุดก็คือ จากสถานการณ์ “โควิด”

รูปธรรมก็คือ ความไม่แน่นอนและคาดหมายไม่ได้ในเรื่อง “วัคซีน”

ความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้อำนวยการศบค.ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่กำลังกลายเป็น “แพะ”

นั่นแหละคือปัจจัยโหมหือกระพือข่าวในเรื่อง “ยุบสภา”

กระนั้น จากท่าทีต่อร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ต่อพระราชกำหนดเงินกู้

ทำให้สังคมมีบทสรุปว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะประคองให้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณผ่าน และดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในประเด็นวิธีการเลือกตั้ง

จนถึงต้นปี 2565 นั่นแหละแนวโน้มการยุบสภาจึงจะชัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน