ขัดแย้ง แตกแยก

รัฐบาล พลังประชารัฐ

ขยาย ปลายบาน : วิเคราะห์การเมือง

 

ไม่ว่าคนใน “ทำเนียบรัฐบาล” ไม่ว่าคนใน “พลังประชารัฐ” จำเป็นต้องทบทวน ศึกษา

ศึกษาถึง “มูลเชื้อ” อันก่อให้เกิดความขัดแย้ง แตกแยก ทางการเมือง ทบทวนถึงรากที่มาและการสะสมกระทั่งปะทุกลายเป็น “ความรุนแรง” ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

นั่นก็คือ คำสั่ง “ปลด” 2 รัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง

นั่นคือ รูปธรรมอันเด่นชัดยิ่งที่สะท้อนความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า และ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์

“นายกรัฐมนตรี” กับรัฐมนตรีจาก “พลัง ประชารัฐ”

คําสั่งนี้สัมพันธ์กับสถานการณ์ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ

เห็นได้จากแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ามีการเคลื่อนไหว “ล้ม” ตน เห็นได้จากแถลงจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ปฏิเสธว่าไม่มีอยู่จริง

จากนั้นก็มีการตกลง “ร่วม” ระหว่างทำเนียบรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แสดงบทบาทในการทำความเข้าใจและจัดพิธีกรรมให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กล่าวคำขอโทษต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ด้วยความมั่นใจเป็นอย่างสูงว่าเรื่องน่าจะจบ

พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากรัฐมนตรีคือดัชนีชี้วัด

เป็นการชี้วัดว่าเรื่องมิได้จบ เพราะพระบรมราชโองการนี้มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในฐานะนายกรัฐมนตรี

เท่ากับเป็นความรับผิดชอบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ไม่เพียงแต่เป็นการดำเนินการหลังจากมีการกล่าวคำขอโทษและคะแนนเสียงพรรคพลังประชารัฐเป็นเอกภาพ หากที่สำคัญมิได้ปรึกษา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อยู่ในสถานะ “ผู้รับทราบ” เท่านั้น

 

หากมีการศึกษา หากมีการทบทวน “ความนัย” ก็จะสัมผัสได้ในลักษณะบานปลาย

นั่นก็คือ บานปลายจากที่ขัดแย้งระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ตรงนี้ต่างหากที่ “แหลมคม” และมีโอกาส “ร้อนแรง”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน