คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

การสกัด ขัดขวาง เกียรติภูมิ จิตร ภูมิศักดิ์ กับ เยาวชนรุ่นใหม่

เมื่อเผชิญเข้ากับหนังสือ “จ.จิตร” ธาตุแท้ของ “กระทรวงศึกษาธิการ” ก็ปรากฏ

ไม่เพียงเพราะหนังสือ “จ.จิตร” จะเป็นส่วนหนึ่งในชุด “วาดความหวัง” ที่ตั้งเป้าให้ช่วงการอ่านของคนอยู่ระหว่างอายุ 5 ถึง 12 ปีเท่านั้น

หากแต่ยังมีสายสัมพันธ์ไปกับ “10 ราษฎร”

คำปรารภของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในที่ประชุมครม.จึงก่อให้เกิดการขยับของ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์

กลายเป็นเรื่องอ่อนไหวต่อปัญหา “ความมั่นคง”

พลันที่หนังสือ “จ.จิตร” โยงไปยัง “ความมั่นคง” นั่นหมายถึงเรื่องของ จิตร ภูมิศักดิ์

เป็น จิตร ภูมิศักดิ์ ที่เคยเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มีผลงานทั้งในทางวรรณกรรมและในทางประวัติศาสตร์

กระทั่งถูกจับกุมคุมขังหลังรัฐประหารเดือนตุลาคม 2501

นามของ จิตร ภูมิศักดิ์ ยิ่งล่อแหลมเมื่อเขาออกจากลาดยาวก็เดินทางเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์และ “เสียสละ” ชีวิตในอีกไม่นานต่อมา

นามของ “จ.จิตร” จึงเป็นนาม “ต้องห้าม” ในทางการเมือง

เหตุปัจจัยอะไรทำให้นามของ จิตร ภูมิศักดิ์ กลายเป็นประเด็น “ความมั่นคง”

นอกจากประวัติชีวิตอันโลดโผนของ จิตร ภูมิศักดิ์ ในห้วงที่เป็นนักศึกษาและในห้วงแห่งการเดินทางเข้าร่วมกับ “พรรคคอมมิวนิสต์” จนต้องเสียสละชีวิตแล้ว

ความอ่อนไหวเป็นอย่างมากยังอยู่ที่ลักษณะ “เชื่อมประสาน”

แม้จะมีความพยายามกีดกันและจำกัดกรอบของ จิตร ภูมิศักดิ์ เพียงใด แต่เมื่อมีการเคลื่อนไหวของ “เยาวชนปลดแอก” ก็ประสานเข้าเป็น เนื้อเดียว

เป็นธรรมดาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะหวั่นไหว

คําถามก็คือ การใช้อำนาจของกระทรวงศึกษาธิการจะสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่

หากดูจาก “ปฏิกิริยา” ที่ดำรงอยู่ในสังคม และในแวดวงวิชาการ ตอบได้เลยว่า ยากและ “ยากส์” เป็นอย่างยิ่งที่จะบดขยี้ จิตร ภูมิศักดิ์ ลงได้

ทุกอย่างของ จิตร ภูมิศักดิ์ ยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน