คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

45 ปี 6 ตุลา ปฏิมา ประชาธิปไตย จากรุ่น สู่รุ่น

แล้วภาพของงานรำลึก “45 ปี 6 ตุลา” ก็ปรากฏออกมาตามความคาดหมาย

นั่นก็คือ ธรรมศาสตร์ยินยอมเปิดประตูมหาวิทยาลัยให้เข้าไปจัดงานได้ตามที่กำหนดและประกาศเอาไว้ครบถ้วนทุกประการ

เป็นเพราะ “ฝ่ายบริหาร” บังเกิดภาวะ “ตื่นรู้” กระนั้นหรือ

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเช่นนั้นเหมือนกับหลายองค์กรที่เคยประสานเสียงเห็นชอบด้วยกับมติของฝ่ายบริหาร แต่เหตุผลสำคัญน่าจะตระหนักได้ว่าจะเป็นผลเสียอย่างไรต่อตนเอง

ทำให้ “ธรรมศาสตร์” ต้องแปดเปื้อนไปด้วย

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ รูปธรรมแห่งการปฏิวัติเมื่อเดือนสิงหาคม 2475

ภายหลังการยึดอำนาจประสบความสำเร็จโดย พื้นฐานนอกเหนือจากธรรมนูญการปกครอง พ.ศ.2475 แล้วการก่อตั้ง “ธรรมศาสตร์” สำคัญยิ่ง

สำคัญทั้งใน “ทางความคิด” ทั้งใน “ทางการเมือง”

เพราะนี่คือการกำเนิดสถาบันอันมีเป้าหมายเพื่อบ่มเพาะและสร้าง “นักประชาธิปไตย” และเครื่องมือให้ประชาชนในการขับเคลื่อน “ประชาธิปไตย”

ที่สำคัญ คือเป็นมหาวิทยาลัยในลักษณะ “ตลาดวิชา”

จากนั้นเป็นต้นมา ธรรมศาสตร์ก็ดำรงอยู่อย่างแข็งแกร่งและมั่นคงเป็นลำดับ

การปรากฏขึ้นของบัณฑิต “ธรรมศาสตร์” ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก การต่อสู้และเผยแพร่ทางความคิดมีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นจุดเริ่มอย่างสำคัญ

เมื่อเดือนตุลาคม 2516 ก็เป็นเช่นนี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2519 ก็เป็นเช่นนี้

ความริเริ่มอันมาจาก นายปรีดี พนมยงค์ จึงดำรงอยู่อย่างแข็งแกร่งและมั่นคงไม่ว่ากระแสของ “คณะราษฎร” จะถูกใส่ร้ายและบิดเบือนอย่างไรก็ตาม

ดำรงอยู่มากระทั่งถึงเดือนตุลาคม 2564

บทบาทสำคัญจาก “45 ปี 6 ตุลา” ที่เห็นจากงานรำลึกสะท้อนอะไรในทางการเมือง

สะท้อนให้เห็นการส่งไม้ต่อในทางความคิด ในทางการเมือง ยืนยันอย่างหนักแน่นและมั่นคงว่า แม้จะมีความพยายามสกัดกั้นและทำลาย

แต่ก็ยากอย่างยิ่งที่จะสำเร็จได้อย่างง่ายดาย สมปรารถนา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน