คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

เอกภาพ การเมือง ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา แนวโน้ม เลือกตั้ง

ทําไมความเชื่อที่ว่าอาจมีการเลือกตั้งภายใน ปี 2565 จึงกลายเป็น “บทสรุป” ทางการเมือง

ไม่ว่าจะมาจากความเชื่อจากปากของ โทนี่ วู้ดซัม ผ่านช่องทาง “คลับเฮาส์” ไม่ว่าจะมาจากความเชื่อของ “โหร ส.ว.” ถึงกับออกมาฟันธงด้วยความมั่นใจ

คนแรกมาจากความจัดเจนการเมือง คนหลังมาจากวิถีแห่งดวงดาว

กระนั้น เมื่อสัมผัสเข้ากับรูปธรรมและความเป็นจริงอันปรากฏผ่านบรรยากาศในการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ทุกคนก็เริ่มอ่านออกได้รางๆ

นั่นก็คือ สัญญาณอันมาจาก “สภาล่ม”

 

คําว่า “สภาล่ม” เหมือนกับจะเป็นความรับผิดชอบร่วมของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด

ในทางหลักการทั่วไปอาจประเมินได้เช่นนั้น แต่ในความเป็นจริงที่ระบบรัฐสภาดำรงอยู่โดยกระบวนการของ “เสียงข้างมาก” และ “เสียงข้างน้อย”

ความรับผิดชอบจะอยู่ที่ “รัฐบาล” อย่างเป็น ด้านหลัก

เป็นรัฐบาลอันประกอบส่วนขึ้นจากพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคขนาดเล็กอีก 10 กว่าพรรค

มิได้เป็นของพรรคเพื่อไทย มิได้เป็นของพรรคก้าวไกล

 

ปัจจัยอันก่อให้เกิดสภาวะ “สภาล่ม” จึงมาจากรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายที่กุม “เสียงข้างมาก”

โดยธรรมชาติของ “ฝ่ายค้าน” ต้องการเห็น “สภาล่ม” เกิดขึ้นอยู่แล้วเพราะสะท้อนถึงความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพภายในของรัฐบาล

ความขัดแย้งนับแต่กรณี 4 กันยายนจึงเป็น “รูปธรรม” สำคัญ

เป็นความขัดแย้งอันนำไปสู่การปลดรัฐมนตรีในวันที่ 8 กันยายน และกลายเป็นความไม่พอใจที่ ดำรงอยู่ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ “บางคน” ในพรรคพลังประชารัฐ

ตรงนี้ต่างหากที่เป็นปัจจัย “ล่อแหลม” และ “แหลมคม”

 

ตราบใดที่ความขัดแย้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับบางคนในพลังประชารัฐ ยังดำรงอยู่

ตราบนั้นความรู้สึกหวาดเสียวในทางการเมือง อันจะนำไปสู่สภาวะ “สภาล่ม” หรือเหตุอื่นใดในทางการเมืองก็ยังดำรงอยู่และมากด้วยความเข้มข้น

นี่คือความไม่มี “เอกภาพ” นี่คือการไม่มี “เสถียรภาพ” ในทางการเมือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน