แนวโน้มยุบสภา-หลังพปชร.แตก

รายงานพิเศษ

การเมืองร้อนระอุตั้งแต่ต้นปี เมื่อพรรคพลังประชารัฐ มีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรค กับ 20 ส.ส.พ้นพรรค
แม้จะเป็นแผนลับลวงพราง เป้าหมายเพื่อต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี
หากส่งแรงกระเพื่อมถึงเสถียรภาพรัฐบาล อาจนำไปสู่การยุบสภาได้
ในมุมมองนักวิชาการ ที่เกาะติดสถานการณ์บ้านเมือง คิดว่ามีโอกาสแค่ไหน

โคทม อารียา
ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล

การเมืองขณะนี้มีหลายเอพพิโซด ต้องติดตามกันให้ดีๆ เพราะจะค่อยๆ คลี่คลายออกมา จากข่าว ร.อ.ธรรมนัส ต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ไม่ลงตัว เคลียร์กันไม่ได้ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีอำนาจปรับครม. คงกลัว เสียหน้า หากยอมทำตามที่ ร.อ.ธรรมนัส ต้องการ

เมื่อต่างฝ่ายต่างยืนยันในหลักการตัวเอง แล้วไปกัน ไม่ได้ เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็คงเตรียมทางออกไว้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับ ครม. ยุบสภา หรือลาออก สามารถออกได้ทุกหน้า

การที่ ร.อ.ธรรมนัสขอให้พรรคพลังประชารัฐขับตัวเองพร้อม ส.ส.อีก 20 คน ก็เพราะต้องการพิสูจน์ให้ พล.อ.ประยุทธ์เห็นว่าเขามีส.ส.อยู่ในมือ ซึ่งยังไม่รวมกลุ่มพันธมิตรที่อยู่ในพรรค พปชร.แต่ไม่แสดงตนอีก

อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะยังไม่ ตัดสินใจยุบสภา หรือลาออกตอนนี้ เพราะสถานการณ์การเมืองขณะนี้ยังไม่จวนตัวเสียทีเดียว แม้ว่ารัฐบาลจะ มีเสียง ส.ส.ในมือแบบปริ่มน้ำ ยังเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์สามารถประคับประคองรัฐบาลให้อยู่รอดไปได้ในสมัยประชุม ก.พ.นี้ และยังไม่ได้มีกฎหมายสำคัญที่ต้อง ใช้เสียง ส.ส.ผ่านความเห็นชอบ

แต่เมื่อสภาเปิดสมัยประชุมหน้าเดือน พ.ค.ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์คงต้องมาชั่งตวงวัด ส.ส.ในมือกัน อีกครั้ง

ดังนั้น แม้ขณะนี้รัฐบาลจะมีเสียงปริ่มน้ำ แต่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็จะอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ ตามเรื่องตามราว เมื่อถึงสมัยประชุมหน้าหากประเมินแล้วว่าต้องแพ้เสียงโหวตไม่ไว้วางใจ ต้องถูกล้มทั้งกระดาน โอกาสจะยุบสภาเพื่อเลือกตั้งกันใหม่ก็มีสูง

แต่ทั้งหมดก็ขึ้นกับสถานการณ์ทางการเมืองใน ขณะนั้น เงื่อนไขสำคัญคือต้องรอให้ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง พิจารณาแล้วเสร็จสะเด็ดน้ำเสียก่อน โอกาสจะเปิดทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ยุบสภาก็มีมากขึ้น

และหาก พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจริง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะกลับมาใหม่ไม่ได้หาก 250 ส.ว.ยังอยู่ เพราะกลุ่ม ส.ว.ถือเป็นพรรคการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีพรรคไหนจะแข็งแกร่งเท่าพรรค ส.ว.อีกแล้ว บางทีก็ไม่จำเป็นที่รัฐบาลต้องมีเสียง ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง รัฐบาลเสียงข้างน้อยก็ขับเคลื่อนไปได้

พล.อ.ประยุทธ์ยังได้เปรียบวันยังค่ำ เพราะ ส.ส.ที่อยากเป็นรัฐบาล ก็ต้องไปอยู่กับคนที่มีโอกาสเป็นนายกฯ ยกเว้นว่า พล.อ.ประยุทธ์จะถอดใจแล้ว ถึงได้บอกการเมืองยังมีอีกหลายเอพพิโซด ทางออกของพล.อ.ประยุทธ์ จะออกหน้าไหนก็ได้ ทั้งนั้น

แต่ถ้าจะใช้วิธีรัฐประหารกันอีก คนที่คิดจะทำคงต้องคิด ให้ดี เชื่อว่าคนไทยไม่ยอมรับเรื่องแบบนี้อีกแล้วและมันไม่ง่ายเหมือนอดีต

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

รู้สึกแปลกๆ กับมติพรรคพลังประชารัฐที่ขับ ร.อ.ธรรมนัส และ 20 ส.ส.พ้นพรรค การจะขับ ส.ส.ถึง 21 คน จะประชุมเพียงครั้งเดียวแล้วจบหรือ อีกทั้งฝ่ายที่ถูกขับก็ดูเหมือนไม่ติดอกติดใจ แต่ก็ไม่สามารถฟันธงได้เพราะนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคก็แถลงยืนยันมติ

ส่วนผลที่ตามมาหลังมติขับ ร.อ.ธรรมนัส และพวก จะกระทบ ต่อเสถียรภาพรัฐบาลถึงขั้น พล.อ.ประยุทธ์ ต้องยุบสภา หรือไม่เพราะเสียงรัฐบาลในสภาปริ่มน้ำนั้น เบื้องต้นต้อง ตีโจทย์ให้แตกก่อนว่าที่เขาขับออกมามีเจตนาอย่างไรกันแน่ และการเน้นย้ำว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ไม่ได้หมดไป ความเป็น ไปได้จึงมีได้ทั้งนั้น

ในทางหนึ่งคือกลุ่มร.อ.ธรรมนัสต้องการตั้งพรรคใหม่เพื่อแก้ปัญหาภายในแบบเฉพาะหน้า เมื่อเคยมีปัญหากันก็แยกกันอยู่คนละพรรค จะได้ไม่มีปัญหา หากโจทย์เป็นเช่นนี้ก็ไม่มีอะไรกระทบกระเทือนรัฐบาลเท่าไร จากเดิมแค่พรรคเดียวก็กลายเป็นสองพรรค แต่ก็ยังเป็นพรรครัฐบาลอยู่เหมือนเดิม

ดูจากพฤติการณ์แล้วคิดว่าเป็นปาหี่มากกว่า ในที่สุดเขา ก็ยังมีความผูกพันกันอยู่ ไม่ใช่การแตกแยกโดยแท้จริง ส่วนตัวไม่ได้มองว่าเป็นแผนสูงของร.อ.ธรรมนัส ที่จะโค่น พล.อ.ประยุทธ์

แล้วถ้าไม่ยุบสภาแต่เลือกปรับครม. ตามที่ ร.อ.ธรรมนัส ต้องการจะเป็นไปได้หรือไม่นั้น คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ คงไม่ยอมปรับครม. เพราะหากให้เก้าอี้ ร.อ.ธรรมนัส หมายความว่าจะ ส่งผลกระทบต่อพรรคร่วมรัฐบาล การเอาตำแหน่งรัฐมนตรีดึงไม่ให้ร.อ.ธรรมนัสไปอยู่ฝ่ายค้าน คิดว่าไม่ใช่ประเด็นแน่นอน

ส่วนถ้าไม่ยุบสภาแต่เลือกปรับโครงสร้างพรรคให้เป็นปึกแผ่น การขับ 21 ส.ส.ออกไปก็ถือเป็นการปรับโครงสร้างพรรคแล้ว อย่างที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน เคยพูดว่าต่อจากนี้ก็จะอยู่กันสงบ

สิ่งที่น่าสนใจกว่า คือหากเรื่องนี้เป็นการแตกแยก อย่างแท้จริง สิ่งที่ควรจับตาคือ กลุ่มสามมิตรมองพรรค 4 กุมารอย่างไร ถ้ากลุ่มสามมิตรอยากไปอยู่พรรคใหม่ขึ้นมา เรื่องนี้อาจจะยุ่งได้ เพราะพรรคสร้างอนาคตไทยของ 4 กุมาร ตอนเปิดตัวประกาศชัดเจนว่าจะไม่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯแน่นอน แต่หากกลุ่มสามมิตรเหลือแค่สองมิตร และพอใจที่จะอยู่พรรคพลังประชารัฐต่อไปก็ไม่น่าจะมีปัญหา

ส่วนตัวเชื่อว่าหากไม่ยุบสภาจะมีโอกาสลากยาวไปจนจบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2566 เพราะพล.อ.ประยุทธ์ต้องการเช่นนั้น และหลายคนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันมาตลอดว่าการยุบสภาอยู่ที่พล.อ.ประยุทธ์คนเดียว ไม่ยอมเซ็นให้ยุบสภา ไม่ว่าใครก็ยุบไม่ได้เพราะเป็นอำนาจ นายกฯ

และจากที่ดูอะไรหลายๆ อย่างแล้ว โดยเฉพาะคุณลักษณะเฉพาะตัวของพล.อ.ประยุทธ์ คงพยายามดึงจนสุดฤทธิ์ให้ลากยาวไปจนครบเทอม เพราะการยุบสภาถือเป็นความพ่ายแพ้ของ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างหนึ่ง

และหากมีการยุบสภาขึ้นมาจริงๆ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ยังไม่เสร็จก็จะมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายทำให้ปวดหัวกันอีก

ฝ่ายหนึ่งคงจะเห็นว่าถ้ายุบสภาทั้งที่กฎหมายลูกยังไม่เสร็จ ก็ต้องเลือกตั้งไปตามกฎหมายเดิม อีกฝ่ายก็จะบอกว่ารัฐธรรมนูญแก้ไขเสร็จต้องว่าไปตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีกฎหมายลูกรองรับแล้วจะทำอย่างไร ท้ายที่สุดอาจต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

สุเชาวน์ มีหนองหว้า
อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.อุบลฯ

เป็นเกมต่อรองที่ ร.อ.ธรรมนัส ต้องการแสดงพลังว่ายังมีอำนาจต่อรองกับแกนนำพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรี ให้เห็นว่า ตัวเองมีคะแนนเสียงอยู่ในกำมือ และโดยแท้จริงแล้ว ร.อ.ธรรมนัส กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ยังเกาะเกี่ยว ยังมีกันอยู่

ถามว่าปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐครั้งนี้จะนำไปสู่ยุบสภาหรือไม่ อย่างที่นายกฯ กล่าวไว้ว่าไม่ยุบสภา คงเพราะกฎหมายลูกยังไม่เรียบร้อย และกลัวว่าจะเข้าทางฝ่ายค้านที่ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

ถ้ายุบสภารัฐบาลจะมีปัญหาที่ถั่งโถมเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโควิด-19 เรื่องเศรษฐกิจปากท้องประชาชน ซึ่งเห็นได้ชัดจากเรื่องหมูแพง ขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค น่าจะเป็นผลจากการเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ไม่สามารถทำงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการบริหารนโยบายที่จะแก้ปัญหาพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นค่าของชีพหรือการดำรงอยู่ต่างๆ

และถ้ารัฐบาลหนีปัญหาโดยการยุบสภา จะเป็นจุดด้อยอย่างมากต่อคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพราะทุกวันนี้ประชาชนก็เห็นว่าการบริหารงานของรัฐบาล หลังยึดอำนาจมาได้ 7-8 ปี ก็ยังไม่สามารถบริหารประเทศให้บรรลุตามที่ตัวเองได้ประกาศไว้ จึงคิดว่าโอกาสจะยุบสภายังไม่มีในช่วงนี้ โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องกฎหมายลูก

เรื่องเก้าอี้รัฐมนตรีน่าจะเป็นโจทย์ใหญ่ที่ ร.อ.ธรรมนัสยื่นไพ่ การจะประนีประนอมเพื่อให้รัฐบาลเดินหน้าต่อไปได้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งคือ ยอมตามข้อเสนอของ กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ซึ่งรัฐบาลจะเดินหน้าไปได้อีกสัก ระยะหนึ่ง

ส่วนการปรับโครงสร้างภายในพรรคพลังประชารัฐเพื่อแก้ปัญหาหลายๆ อย่าง ก็เป็นเรื่องสำคัญมาก ทำอย่างไรเพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อให้รัฐบาลเดินหน้าต่อไปอย่างน้อยก็ให้แก้กฎหมายลูกเสร็จแล้วค่อยยุบสภา

แต่ถ้าจะมีการยุบสภารัฐบาลคงต้องวิเคราะห์ไตร่ตรองพอสมควร 1.เรื่องความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของฝ่ายรัฐบาลเองก็ยังมีปัญหา 2.ตัวชี้ชัดอันหนึ่งว่าจะได้คะแนนเสียงเท่าเดิมหรือไม่ คือผลงานของรัฐบาล

3. ฝ่ายค้านพร้อมจะอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ถ้ายุบสภาก่อนก็จะอาศัยจุดบอดในการทำงานของรัฐบาลไปหาเสียงในช่วงเลือกตั้ง ก็เข้าทางฝ่ายค้าน เช่นที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุว่าหากยุบสภาก่อนก็ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร สอดคล้องกันกับนายกฯ

คิดว่าทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลคงรอให้กฎหมายลูกเสร็จ เพื่อใช้กระบวนการเลือกตั้งแบบใหม่แล้วค่อย ยุบสภา เชื่อว่าเป็นความเห็นที่ตรงกัน และน่าจะใช้เวลาอีกไม่นาน ไม่น่าจะเกิน 2 เดือนก็เสร็จ

อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลไม่สามารถประนีประนอมตอบรับข้อเสนอของ ร.อ.ธรรมนัส รัฐบาลคงจะอยู่ลำบากเหมือนเรือเหล็กลำเล็ก เมื่อเกิดสนิมแล้วก็น่าจะเป็นปัญหาในตัวรัฐนาวาประยุทธ์

ถามว่าเวลานี้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ถึงทางตันแล้ว หรือยัง ถ้าแก้ปัญหาในพรรคตัวเองไม่ได้ ความอยู่รอดของรัฐบาลคงจะถึงเวลาที่ต้องนับถอยหลัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน