คําประกาศทวงคืนพื้นที่ “กรุงเทพมหานคร” ของพรรคประชาธิปัตย์ สามารถเข้าใจได้
เข้าใจได้เหมือนกับคำประกาศตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 จากพรรคเพื่อไทยที่ยืนยันตามแนวทาง “แลนด์สไลด์” ในการเลือกตั้งทั่วประเทศ

ทั้งหมดล้วนมีรากมาจาก “คืนวันอันล้ำเลิศ แต่หนหลัง” ทั้งสิ้น
เพราะว่านั่นคืออดีตที่พรรคไทยรักไทยเคยมี ที่พรรคพลังประชาชนเคยมี ที่พรรคเพื่อไทยเคยมี ไม่ว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ว่ารัฐธรรมนูญ 2560

เช่นเดียวกับอดีตของพรรคประชาธิปัตย์ในกทม.

มีความเด่นชัดในประวัติศาสตร์ว่า พื้นที่กทม.เป็นพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์
ไม่ว่าในยุคของ นายควง อภัยวงศ์ ไม่ว่าในยุคของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ไม่ว่าในยุคของ นายพิชัย รัตตกุล หรือแม้กระทั่งในยุคของ นายชวน หลีกภัย

แม้จะถูกแย่งชิง แต่ก็สามารถทวงคืนมาได้
เป็นการทวงคืนจากพรรคประชากรไทย เป็นการทวงคืนจากพรรคพลังธรรม และเป็นการทวงคืนจากพรรคไทยรักไทย

เพียงแต่ ณ วันนี้จะสามารถทวงคืนมาได้หรือไม่

การเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 เป็นความเจ็บปวดสูงสุดของพรรคประชาธิปัตย์
ในปี 2522 อย่างน้อยก็ยังมี พ.อ.ถนัด คอมันตร์ หลุดรอดมาได้ ในปี 2535 อย่างน้อยก็ยังมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลุดรอดมาได้

แต่ในปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์สูญพันธุ์
นั่นไม่เพียงถูกพรรคพลังประชารัฐแย่งชิง หากยังมีพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ แบ่งเอาพื้นที่หลายพื้นที่ไปอยู่ในความยึดครอง

ความเจ็บปวดจึงค้างคามาถึงเดือนมีนาคม 2565

กระนั้น การทวงคืนพื้นที่ในกทม.ของพรรคประชาธิปัตย์ก็ใช่ว่าจะง่ายดาย
หากมองไปยังพรรคพลังประชารัฐอาจมิได้ เป็นเรื่องน่ากลัวอีกแล้ว แต่ที่ยืนทะมึนขวางอยู่ เบื้องหน้ากลับเป็นพรรคกล้าของ นายกรณ์ จาติกวณิช

ทั้งพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย ก็ไม่ยอมถอย อย่างแน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน