ทําไมบทบาทของพรรครวมไทยสร้างชาติถึงได้เงียบหายไปอย่างน่าอัศจรรย์
เป็นเพราะการป่วยเจ็บของแกนนำบางคน กระนั้นหรือ หรือเป็นเพราะความคึกคักจากดินเนอร์สนั่นเมืองที่สโมสรราชพฤกษ์ได้เข้ามาแทนที่
แต่ละปัจจัยล้วนเป็น “คำตอบ” ได้
เป็นคำตอบและอธิบายถึงมูลเชื้อที่ต้องมีการ เสกปั้น “พรรคสำรอง” ไม่ว่าจะเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่ว่าจะเป็นพรรคไทยสร้างสรรค์ก็ตาม

ความหมายก็คือ สามารถตกลงและรอมชอมกันได้

หากมอง “สโมสรราชพฤกษ์” ต้องมองไปยังกุ้งทอดกระเทียมที่ “บ้านป่ารอยต่อ”
แรงบันดาลใจนำไปสู่การสังสรรค์ที่ “สโมสรราชพฤกษ์” มีจุดเริ่มมาจากการร่วมรับประทานอาหารระหว่าง 3 พี่น้อง ณ บ้านป่ารอยต่อ
จึงได้กำหนดให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นเจ้าภาพ
ด้านหลักคือการเชิญ นายอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ นายวราวุธ ศิลปอาชา จากพรรคชาติไทยพัฒนา

นี่เป็นกลยุทธ์เดียวกันกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

เพียงแต่เมื่อปี 2531 อยู่ที่ “สนามกอล์ฟ” ขณะที่ในปี 2565 เน้น “โต๊ะอาหาร” เท่านั้น
ในยุคของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไม่ชอบเจรจากันหน้าเหล้าหน้าข้าว หากแต่เป็นการออกรอบตีกอล์ฟโดยเอาที่นครปฐมเป็นจุดรวม
ต้องการหลักประกันหลัง “การเลือกตั้ง”
ถามว่าเป้าหมายของพรรคพลังประชารัฐคือการยื่นไมตรีไปยังพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา ก็เพื่อเป้าหมายเดียวกัน

นั่นคือประกันอำนาจให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

การเคลื่อนไหวนี้ยืนยันถึง “เอกภาพ” อันแน่นเหนียวภายในของ “กลุ่ม 3 ป.”
บทบาทในการประสานกับพรรคการเมืองย่อมเป็นบทบาทของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะเป็น “พี่ใหญ่” เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

ยืนยันยังหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่แปรเปลี่ยน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน