ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แม้ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นำห่างในโพล แต่มีความเป็นไปได้ว่า ผู้ชนะครั้งนี้จะได้คะแนนไม่ถึง 50% ของผู้มาใช้สิทธิ เพราะมีคู่แข่งหลากหลาย ทั้งขั้วตรงข้ามขั้วเดียวกัน “ตัดคะแนน” กันเอง เช่น ชัชชาติ-วิโรจน์-ศิธา อัศวิน-สุชัชวีร์-สกลธี โดยมีเพียงรสนาไม่เข้าพวก

หันไปดู ส.ก.ยิ่งแล้วใหญ่ ไม่รู้ใครชิงใคร เพื่อไทย ก้าวไกล ไทยสร้างไทย รักษ์กรุงเทพ ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ แต่ละเขตอาจสูสีกัน 5-6 คน ชนะกันไม่กี่คะแนน

การมีผู้สมัครตัวเต็ง 6-7 ราย เป็นมิติใหม่ของการเมืองที่มีความเห็นต่างหลากหลาย ระดับชาติเห็นได้ว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” มีทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกลแข่งกันเอง (แถมเกิดไทยสร้างไทย) ฝ่ายอนุรักษนิยม ก็ไม่ใช่มีแค่ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ อาจเกิดรวมไทยสร้างชาติ เหลือแต่พรรคภูมิใจไทย ชาติไทย เข้าได้ทุกขั้ว ขอแค่เป็นรัฐบาล

คนไทยเคยชินกับการเมืองอเมริกันหรืออังกฤษที่มีพรรค 2 ขั้ว แต่อันที่จริงตอนนี้อังกฤษมี 3 พรรคใหญ่ ในยุโรปมี 4-5 พรรคขึ้นไป มีตั้งแต่ฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา ขวากลาง กลางขวา ซ้ายกลาง กลางซ้าย ฯลฯ ตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีความคิดต่างหลากหลาย

วิธีเลือกตั้งให้สะท้อนฉันทานุมัติประชาชน ก็แตกต่างกันตามระบอบ ว่าต้องการผลลัพธ์แบบไหน ถ้าเป็นระบอบรัฐสภา คือเลือก ส.ส.เข้ามาเลือกนายกฯ ก็มีทั้งแบบอังกฤษแบบเยอรมัน ถ้าเป็นระบอบประธานาธิบดี คือเลือกผู้นำเข้าไปใช้อำนาจบริหารโดยตรง แบบอเมริกันก็แข่งกัน 2 คน 2 พรรคใหญ่ แต่แบบฝรั่งเศสที่กำลังเลือกกันอยู่ ใช้ระบบเลือกตั้ง 2 รอบ เพราะมี ผู้สมัครหลายคน รอบแรกแข่งทุกคน ใครได้คะแนนเกินครึ่งชนะไปเลย ถ้าคะแนนกระจายไม่มีใครได้เกินครึ่ง ก็เอาที่หนึ่งที่สองมาแข่งกันใหม่ เพื่อให้ได้ผู้ชนะเด็ดขาด ได้ฉันทานุมัติจากประชาชน

ซึ่งผลรอบแรกออกมาแล้ว จากผู้สมัคร 12 คน ประธานาธิบดีมาครงได้ 27.8% ต้องแข่งใหม่กับ มารีน เลอเปน ตัวแทนชาตินิยมขวาจัด ที่ได้ 23.1% อันดับสาม ฌอง-ลุก เมลองชง ผู้นำฝ่ายซ้ายใหม่ ได้ 22% ตกรอบไปอย่างน่าเสียดาย

ครั้งที่แล้วก็เป็นแบบนี้ มาครงชนะเลอเปนในรอบสอง เพราะประชาชนอีกเกือบครึ่ง ที่เลือกคนอื่นในรอบแรก ส่วนใหญ่เทให้มาครงเพราะกลัวความสุดโต่งของเลอเปน “ไม่เลือกเราเขามาแน่”

ลองสมมติผลเลือกตั้ง กทม. 2 แบบ แบบที่หนึ่ง ชัชชาติได้ 33% อัศวินได้ 31% แบบที่สอง ล็อกถล่ม ชัชชาติได้ 33% อัศวินได้ 34% (สมมติคนจะเลือกสกลธี-สุชัชวีร์เทคะแนนให้) ไม่ว่าอยากได้ใคร อยู่ขั้วไหน คุณพอใจไหม อยากให้มีเลือกรอบ สองไหม

อ๊ะอ๊ะ พูดอย่างนี้จะเอาระบอบประธานาธิบดีมาใช้หรือ ในความเป็นจริง การเลือกตั้งท้องถิ่นของไทย ก็ใช้วิธีเลือก ผู้บริหารโดยตรง (นายกเทศมนตรี นายก อบจ. นายก อบต.) แยกจากการเลือกสมาชิกสภา คล้ายระบอบประธานาธิบดีอยู่แล้ว

ข้อดีของการเลือกตั้งระบบนี้คือ เมื่อต้องการเลือกตัวบุคคลเข้าไปมีอำนาจบริหารแบบเด็ดขาด ก็ควรจะได้ฉันทานุมัติแบบรู้ดำรู้แดงไปเลย ไม่ใช่ได้คะแนนไม่ถึงครึ่ง หรือกลายเป็นตาอินกะตานาตัดคะแนนกัน ตาอยู่เอาพุงปลาไปกิน

หลายประเทศใช้ระบบนี้ เพราะแข่งกันหลายพรรค เช่น ประธานาธิบดีเซเลนสกีแห่งยูเครน รอบแรกได้ที่หนึ่ง 30% เพราะมีผู้สมัคร 30 กว่าคน รอบสองแข่งกับประธานาธิบดีคนก่อน ชนะ 70%

ประธานาธิบดีกาเบรียล บอริช แห่งชิลี ที่มาจากผู้นำม็อบนักศึกษา รอบแรกได้ที่สอง 25.82% แต่รอบสองชนะ 55.87% เพราะคู่แข่งเป็นฝ่ายขวาแบบทรัมป์ ทั้งฝ่ายซ้ายฝ่ายขวากลาง ช่วยกันเทคะแนนให้

ระบบเลือกตั้งอย่างนี้จึงน่าจะเหมาะกับการเลือกผู้ว่าฯ ผู้บริหารท้องถิ่น ที่ใช้วิธีเลือกตรงอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี ไม่ได้บอกว่าระบบนี้เหมาะกับการเลือกนายกฯ เพราะระบบให้อำนาจเด็ดขาดกับผู้ชนะเลือกตั้ง อาจไม่สะท้อนความเป็นตัวแทนประชาชนหลากหลาย เช่น มาครงชนะใจคน 27.8% ในรอบแรก สมมติชนะรอบสองเพราะเมลองชงที่ได้ 22% สนับสนุน แล้วมาครงได้อำนาจไปโดยเมลองชงไม่มีส่วนในอำนาจนั้นเลย ถ้าเทียบระบบเยอรมันซึ่งเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค นำโดยพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยและพรรคกรีน ก็สะท้อนเสียงประชาชนได้ตรงกว่า

ระบบฝรั่งเศสใช้ที่เปรูก็มีปัญหาเหมือนกัน ประธานาธิบดีมาจากพรรคฝ่ายซ้าย แต่บอกว่าชนะรอบสองด้วยตัวเอง ไม่ใช่เพราะพรรค โดนไล่โดนประท้วงจนปั่นป่วน

ระบบเลือกตั้งที่เหมาะสมกับการเมืองไทยปัจจุบัน ยังยืนยันว่าควรเป็นระบบเยอรมัน บัตรสองใบ หรือ MMP ซึ่งให้ความเป็นธรรมทุกคะแนนเสียง กำหนดจำนวน ส.ส.ตามคะแนนพรรค แต่ให้เลือก ส.ส.เขตตามใจรักจากบัตรอีกใบ เหมาะกับสังคมไทยที่มีความซับซ้อนหลากหลาย ไม่ควรให้พรรคที่ชนะ ส.ส.เขตแล้วยังได้ปาร์ตี้ลิสต์ทบซ้ำ แบบรัฐธรรมนูญ 2540

สังคมไทยเปลี่ยนไปเยอะ จนไม่เหมาะกับระบบพรรคใหญ่ได้เปรียบ หรือระบบการเมือง 2 ขั้ว 2 พรรค แบบประชาธิปไตยพรรคเดียว อนุรักษนิยมพรรคเดียว รัฐสภาต้องสะท้อนความแตกต่างหลากหลายตามสัดส่วนคะแนนนิยมที่แท้จริง เพื่อให้ถ่วงดุลกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน