SOTUS มรดก 6 ตุลา

คอลัมน์ ใบตองแห้ง
อ๊ะอ๊ะ ตีขลุมไปไหม ประเพณีรับน้องมีมานานไม่ใช่หรือ ไม่ใช่เพิ่งมีหลัง 6 ตุลา 2519 ใช่ครับ แต่มีข้อสังเกตว่า SOTUS ซึ่งเลิกไปเยอะหลังขบวนการนักศึกษาเป็นหัวหอกประชาธิปไตยสมัย 14 ตุลา 2516 เมื่อกลับมาใหม่ในทศวรรษ 2520 ถึงปัจจุบัน ก็มีหลายอย่างต่างจากยุคเดิม

ว่ากันว่า SOTUS มาเมืองไทยสมัยโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ต่อเนื่องถึงจุฬาฯ โดยเอามาจากอังกฤษ แต่จุฬาฯยุคแรกๆ ไม่มี “ว้าก” ระบบว้ากเริ่มที่แม่โจ้ ซึ่งได้มาจากวิทยาลัยเกษตรฟิลิปปินส์ ซึ่งเอามาจากมหาวิทยาลัยอเมริกันอีกทอดหนึ่ง แล้วก็แพร่มาถึงเกษตร จนเป็นประเพณีทุกสถาบัน

ใช่เลย SOTUS มาจากฝรั่ง แต่เชื่อหรือไม่ปัจจุบันฝรั่งกลับไม่มี SOTUS ลอง search อาจารย์ goo จะพบว่า Thailand Only แม้อังกฤษอเมริกายังมีประเพณีรับนักศึกษาใหม่ แต่การ กระทำรุนแรง วิตถาร หรือทำให้อับอาย ที่เรียกว่า Hazing ถูกห้ามมานานแล้วแม้ในโรงเรียนทหาร

SOTUS วันนี้จึงเป็น “ความเป็นไทย” ที่น่าภาคภูมิใจไปแล้วนะครับ

ธงชัย วินิจจะกูล ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า SOTUS เฟื่องฟู เพราะสอดคล้องกับแบบแผนหลัก 2 อย่างของความสัมพันธ์ทางสังคมไทย คือคนสูงต่ำไม่เท่ากัน และอิงตัวบุคคล

“โซตัสได้ประมวลค่านิยมหลักๆ ของความเป็นไทยไว้ด้วยกันจนตกผลึกเป็นพิธีกรรมการละเล่นแบบเด็กๆ ได้แก่ การให้ความสำคัญกับอาวุโสหรือสถานะสูงต่ำ การสยบยอมต่ออำนาจและความสงบราบคาบ การยอมรับประเพณีหรือสิ่งที่ทำตามกันมาอย่างไม่พึงสงสัย เป้าหมายสูงสุดของสังคมเพื่อความสามัคคีสอดคล้องกัน และจิตวิญญาณหรือความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ความเป็นไทย”

ที่จริงหลัง 14 ตุลา กระแสประชาธิปไตย “เสรีภาพ เสมอภาค” ต่อต้าน SOTUS จนหลายสถาบันเลิกรับน้อง ธรรมศาสตร์ไม่ต้องพูดถึง จุฬาฯ ขอนแก่น เชียงใหม่ ฯลฯ เลิกหมด เหลือแค่เกษตรไม่ยอม จนหลัง 6 ตุลา ขบวนการนักศึกษาล่มสลาย เข้าสู่ยุค “มหาลัยวัยหวาน” SOTUS จึงกลับมาใหม่ ยิ่งนานยิ่งเฟื่องฟู 10-20 ปีหลัง ยิ่งแรงกว่า วิตถารกว่า สิ้นเปลืองกว่า ด้อยวุฒิภาวะกว่าอดีตด้วยซ้ำ

SOTUS เป็นแค่จุดเล็กๆ ที่สะท้อนปัญหาสังคมไทย ตั้งแต่การศึกษา ไม่สอนให้คิดเป็น ศีลธรรมจารีตแช่แข็ง ไม่เปิดรับความคิดใหม่ ทั้งที่โลกและวิถีชีวิตเปลี่ยนไป ซึ่งถ้ามองย้อนอดีตแค่ในช่วงชีวิต มีจุดหักเหที่ “ความเป็นไทยอนุรักษนิยม” กลับมาครอบงำสังคม 3 ช่วงใหญ่ๆ คือ 6 ตุลา, วิกฤต 40 และ “ม็อบกู้ชาติ” ปี 49

หลัง 6 ตุลา อำนาจจารีตกลับมาปิดกั้นครอบงำความคิดเสรี ที่เบ่งบานมาตั้งแต่ก่อน 14 ตุลา ด้วยผลสะเทือนจาก “ยุคแสวงหา” ยุคซิกซ์ตี้ของฝรั่ง ที่คนหนุ่มสาวลุกขึ้นต่อต้านการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ความไม่เสมอภาคเท่าเทียม เหยียดผิว เหยียดเพศ รุกล้างค่านิยมความเชื่อเก่าๆ

ความคิดเสรีถูกทำลายล้าง แม้ในทางการเมืองเกิดเผด็จการช่วงสั้นๆ แล้วเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ประเทศไทยก็เข้าสู่ยุคก้าวกระโดดใหญ่ทางเศรษฐกิจ “โชติช่วงชัชวาล” ด้วยวัฒนธรรมจารีต แม้โครงร่างภายนอกดูเหมือนเปลี่ยนไปทันสมัย แต่ในรูปการจิตสำนึก ยังเป็นความคิดอนุรักษนิยม

ไม่ใช่แค่ SOTUS มหาวิทยาลัยยังกลับมาบังคับหรือปลูกฝังให้ภาคภูมิใจในเครื่องแบบ โรงเรียนสอนให้กราบไหว้เชื่อฟังครูเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กระทั่งขว้างแก้ว สั่งกราบหน้าเสาธง ฯลฯ ทั้งที่ “ความเป็นครู” เทียบไม่ได้กับครูยุค “ลุงตู่” นุ่งขาสั้น

จำได้ไหม เมื่อ 2-3 ปีก่อน นักเรียนไทยเพิ่งรู้ว่ากฎกระทรวงสั่ง “เลิกเกรียน” ตั้งแต่ 2518 แต่ถูกซุกลิ้นชักไว้ จนเด็กสมัย 2520 เป็นพ่อคนไปแล้ว

การผลิตซ้ำศีลธรรมจารีตแบบท่องจำ ในยุคที่สังคมเปลี่ยนสู่ทุนนิยมบริโภค ด้วยฝีมือนักโฆษณา นักการตลาด เข้ากันได้ไม่น่าเชื่อ “วิถีไทย” ไปได้ดีกับวิถี Fast Food ตกทอดเป็น “อนุรักษนิยมอาหารขยะ” เชื่อในความดีงามสำเร็จรูป ง่ายๆ เร็วๆ ด่วนๆ ขณะที่การศึกษาไทยก็ปรับหลักสูตร ไม่ต้องคิดเป็นขอแค่ปริญญาไปทำมาหากิน สนองภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ศีลธรรมจารีตบวกบริโภคนิยมนี่เอง ทำให้เกิด “ความเป็นไทยสมัยใหม่” ที่พิลึกพิกล วัยรุ่นไทยใส่สายเดี่ยว เที่ยวห้าง ย้อมผมแดง แต่ไปไหว้พระแก้ชง บางคนยังฝังหัววัฒนธรรมสูงต่ำ ระบบอุปถัมภ์ สยบยอมอำนาจ เมื่อเทียบกับอนุรักษนิยมรุ่นเก่า ยังสร้างสำนึกทางสังคมสูงกว่า

ขณะที่ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมก็ถูกแช่แข็ง ไม่พัฒนามาเกือบ 40 ปี ดูง่ายๆ ละครหลังข่าวยังเอาเรื่องเก่าๆ มา สร้างซ้ำซาก “พิษสวาท” สร้างครั้งแรกปี 2514 ถึงวันนี้ก็ยังฮิต กับเนื้อเรื่องที่พระเอกรักชาติขนาดฆ่าเมียได้ เพื่อให้เป็นผีเฝ้าทรัพย์แผ่นดิน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน