FootNote : 36 สนช. เงาสะท้อน ความกลัว ความพ่ายแพ้ ในสนาม เลือกตั้ง

ไม่ว่ากรณี 36 สนช.ยื่นแก้ไขพรป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่ว่ากรณีกกต.เหล่บทบาทและการเคลื่อนไหวของ”กลุ่ม สามมิตร”
สถานีปลายทางล้วนอยู่ที่ “คสช.” ล้วนอยู่ที่รัฐประหารเมื่อ
เดือนพฤษภาคม 2557
ทำไมต้องเป็น “คสช.” ทำไมต้องเป็น “รัฐประหาร”
เพราะหากไม่มีรัฐประหารก็คงไม่มี “สนช.” อันเป็นองค์ประกอบ 1 ภายใน “แม่น้ำ 5 สาย”
ขณะเดียวกัน หากไม่มีรัฐประหารและคณะรัฐประหารมีความต้องการจะครองอำนาจบนพื้นฐาน”อยากอยู่ยาว”ก็คงไม่ต้องมี “กลุ่มสามมิตร”
“สนช.” และ”สามมิตร”จึงเป็นเนื้อเดียวกันกับ”คสช.”

ทั้งที่ปรากฏการณ์”พลังดูด”อันสำแดงผ่าน”กลุ่มสามมิตร”เห็นได้อย่างเด่นชัดจากกลางรีสอร์ทดังจังหวัดเลย
เจาะทะลวงไปยัง นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข จากเพื่อไทย
นอกจากนั้น ยังเจาะทะลวงไปยัง นายจำลอง ครุฑขุนทด นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ จากนครราชสีมา
และตามมาด้วย นายสุพล ฟองงาม จากอุบลราชธานี
แล้วเหตุใดยังต้องเกิดปรากฏการณ์ 36 สนช.ยื่นแก้ไขพรป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กตต.)อันเด่นชัดยิ่งว่าต้องการยื้อ ถ่วง หน่วงการเลือกตั้งออกไปจากเดือนกุมภาพันธ์ 2562
ทำท่าว่าอาจจะกลายเป็นต้นปี 2563 ด้วยซ้ำไป
คำตอบเห็นได้มากยิ่งขึ้นว่า เป็นเพราะยังไม่แน่ใจในฤทธิ์เดช ของ “พลังดูด” ว่าจะสามารถเอาชนะพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่ในสนามของ”การเลือกตั้ง”
จึงจำเป็นต้องเคลื่อนไหวเพื่อยื้อ ถ่วง หน่วง โรดแมปการเลือกตั้งให้ยาวออกไปอีก

ไม่ว่าคนจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าคนจากพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งสะสมประสบการณ์ทางการเมืองมามากกว่าย่อมมองออก
ประจักษ์อย่างแจ่มแจ้งว่า “คสช.”ยังตกอยู่ในความหวาดกลัว
ยังไม่แน่ใจอย่างเพียงพอที่จะเข้าสู่”การเลือกตั้ง”
นั่นก็คือ ยังรู้สึกว่าไม่อาจเอาชนะ”เพื่อไทย”ได้เป็นสำคัญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน