บทบรรณาธิการ รังแกกัน

บทบรรณาธิการ รังแกกันก่อนเหตุการณ์ชั้น ม.2 รุมทำร้ายรุ่นน้องชั้นป.4 ที่โรงเรียนในอำเภอดอกคำใต้ จ.พะเยา ประเด็นการแกล้งกันในโรงเรียนของเมืองไทย อาจไม่ค่อยเป็นที่รับรู้เท่ากับการรับน้องในสถาบัน การศึกษา ครูลงโทษทำร้ายร่างกายเด็ก และการซ่อมในกองทัพ

แต่เหตุการณ์ทั้งหมดอยู่ในกลุ่มพฤติกรรม เดียวกัน คือการใช้อำนาจและความรุนแรง ไม่ยอมรับความแตกต่าง ไม่เคารพความเท่าเทียมกันของมนุษย์

เป็นปัญหาใหญ่และน่าวิตก เพราะมีรากฐานฝังในสังคมและการเมืองตั้งแต่ระดับครอบครัวไปถึงระดับประเทศ

การแก้ไขปัญหานี้จึงไม่ควรจำกัดเพียงการลงโทษเด็ก ครู หรือผู้บริหารโรงเรียนเพื่อให้เรื่องจบ

ผลการสำรวจในโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและ เยาวชนรายจังหวัดเมื่อปี 2560 โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่ามีเด็กถูกรังแกในสถานศึกษาปีละประมาณ 6 แสนคน

ปัจจุบันประเทศไทยจึงอยู่ในอันดับ 2 ของโลกรองจากญี่ปุ่น ที่มีสัดส่วนนักเรียนถูกรังแกจากเพื่อนนักเรียนด้วยกันสูงถึงร้อยละ 40

กรณีที่จังหวัดพะเยาจึงเป็นเพียงเรื่องหนึ่งในอีกหลายเหตุการณ์ที่ซุกซ่อนอยู่ตามโรงเรียนทั่วประเทศ แต่มีความสำคัญที่ต้องแสดงถึงการหาทางออกของปัญหาอย่างรอบด้าน

การรุมประณามเยาวชนผู้ก่อเหตุจนไม่กล้าไปโรงเรียนอีก อาจถูกคนส่วนหนึ่งมองอย่างมีอารมณ์ว่าสาสมแล้ว แต่ในระยะยาวต้องคิดเช่นกันว่าจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กที่ก้าวร้าวรุนแรง รังแกผู้อ่อนแอกว่าอย่างไร

เพราะมีหลายเหตุการณ์พิสูจน์แล้วว่าการใช้ความรุนแรงสยบความรุนแรงนั้นไม่ใช่ทางออก

ผู้กำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างตั้งหลักเกณฑ์ป้องกันการรังแกกันภายในโรงเรียน รวมทั้งระดมความคิดเพื่อหากลไกให้ครูที่มีอยู่ป้องกันปัญหาและดูแลเด็กทั่วประเทศอย่างเหมาะสมและครอบคลุม

ภาคสังคมควรต้องสร้างความเข้าใจและปรับทัศนคติร่วมกัน จากระดับครอบครัวไปถึงสังคมโลก และจากสังคมโลกไปถึงครอบครัว

ขณะที่ภาคการเมืองต้องยุติการใช้อำนาจกดขี่ ละเมิดสิทธิ รังแกผู้ไม่เห็นด้วยกับตน เพราะถือเป็นตัวอย่างไม่ดีแก่เยาวชน

ข่าวสดย่อเล็กใหม่สุดๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน