FootNote : บทบาท คุณค่า ประเทศกูมี สะท้อน ความจริง “สังคม”

ปรากฏการณ์ที่เพลง “ประเทศกูมี” ในยูทูบทะยานไปสู่หลัก 6 ล้านวิวด้วยเวลาอันรวดเร็วเพียง 1 วัน

น่าทึ่งอย่างยิ่ง

ตามปรกติแล้วเพลงแร็พมิได้เป็นเพลงกระแสหลัก อย่างเก่งก็มีคนติดตามรับฟังเพียงเรือนร้อยหรือเรือนพัน

ที่จะถึงหลักหมื่นมีน้อยอย่างยิ่ง

แต่กล่าวสำหรับ “ประเทศกูมี”ไม่เพียงแต่เหยียบ “หลักแสน”หากแต่ขึ้นไปอยู่ “หลักล้าน”

ทั้งมิได้เป็นล้านธรรมดาหากแต่ “หลายล้าน”

“ประเทศกูมี”จึงมีความป็อบปูล่าร์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า “ไสว่าบ่ทิ่มกัน” หรือ “ผู้สาวขาเลาะ”ก่อนหน้านี้

ทำไม

ตามขนบไม่ว่าในสังคมตะวันตก ไม่ว่าในสังคมไทย วัฒนธรรมเพลงแร็พถือว่าเป็น “วัฒนธรรมย่อย”ภายในวัฒนธรรมใหญ่

จุดเด่นอย่างหนึ่ง คือ มีลักษณะ “ต่อต้าน”

ที่ผ่านมา แร็พเพอร์ อาจต่อต้านค่านิยมต่างๆในสังคมของวัยรุ่น มีน้อยมากที่แตะเข้าไปในพื้นที่ทาง “การเมือง”

นี่คือ สิ่งที่ “ประเทศกูมี” แหกออกมา

ความนิยมที่ทำให้มียอดวิวไปถึง “หลักแสน” อาจเป็นเพราะเนื้อหาที่ “ประเทศกูมี”เอ่ยถึง สอดรับกับบรรยากาศอย่างที่เรียกกันว่า “ทศวรรษที่สูญหาย”ไป

จากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมายังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

“ประเทศกูมี”จึงสอดรับกับ “อารมณ์”ของยุคสมัย

ขณะเดียวกัน ท่าทีอันมาจากคนในคสช.และคนในรัฐบาลยิ่งช่วยกระพือให้ “ประเทศกูมี”ฮิตติดลมบน

เข้าลักษณะ “ยิ่งห้ามก็ยิ่งเหมือนยุ”

จาก “หลักแสน”จึงแล่นทะยานไปหลัก “หลายล้าน”

อาจกล่าวได้ว่าการออกโรงของ “โฆษกรัฐบาล” การออกโรงของ “ตำรวจ”เท่ากับเป็นการให้ “ความหมาย”และบทบาท “ประเทศกูมี”

คนที่ไม่เคย “ฟัง” ก็เลย “ฟัง”

คนที่ไม่เคย “เห็น” ก็เสาะหามา “ดู”โดยเฉพาะคลิปวิดีโอล่าสุดอันโยงไปยัง “6 ตุลา”

“สังคม”ต่างหากที่สร้างกระแส “ประเทศกูมี”ขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน