นายกฯคนใหม่หน้าตาคล้ายใคร?

นายกฯคนใหม่หน้าตาคล้ายใคร? – การสืบทอดอำนาจ ไม่ใช่เรื่องต้องปิดบังกันอีกต่อไป

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน “ฟอร์บส โกลบอล ซีอีโอ คอนเฟอเรนซ์” ต่อหน้านักลงทุนและซีอีโอบริษัทชั้นนำทั่วโลกกว่า 400 คนว่า

ประเทศไทยใช้เวลา 3-4 ปีสามารถนำความสงบและเสถียรภาพทางการเมืองกลับคืนมาและหยุดยั้งการถดถอยทางเศรษฐกิจของประเทศได้สำเร็จ

พร้อมทั้งวางรากฐานสำคัญที่จะสร้างศักยภาพ ความเข้มแข็งในอนาคตให้ประเทศ และเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษของการเมืองไทยที่มุ่งปฏิรูปประเทศ

นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการปฏิรูป และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น ถึงระฆังกำลังหมดยก โดยจะมีการเลือกตั้งต้นปีหน้า แต่อย่าวิตกกังวลว่าแผนงานหรือโครงการต่างๆ จะสะดุด เพราะมีลางสังหรณ์ว่านายกรัฐมนตรี คนต่อไป อาจจะหน้าตาคล้ายๆ คนเดิม

สอดรับบรรยากาศพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. นำทีมรัฐบาลสัญจรพะเยา-เชียงราย

กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรชาวนา 50 คนจาก จ.เชียงใหม่ ผูกผ้าพันคอสีฟ้าระบุ “กลุ่มล่ามช้าง เพื่ออุตตม” กางร่มข้อความ “กองหนุนลุงตู่เชียงใหม่-สันกำแพง”

ทำเอานายกฯ ลุงตู่ ดิจิตอล ยิ้มไม่หุบ

ถึงพยายามห้ามปรามชาวบ้านบางคน ที่ลุกขึ้นพูดเสียงดัง “พรรคพลังประชารัฐไม่ต้องห่วง” เนื่องจากกลัวโดนหาว่ามาลงพื้นที่หาเสียงทางการเมือง แต่ก็ห้ามไม่อยู่

ที่เป็นประเด็นให้สื่อหลายฉบับหยิบจับไปพาดหัว

อยู่ตรงฉากพ่อหมอแก้วมูล บัวเงิน หมอดูดังของชาวภูคำยาว จ.พะเยา ที่ดูเส้นลายมือให้พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมกับทำนายว่า เป็นคนดวงแข็ง งานที่ทำทั้งหมด จะเป็นผลสำเร็จ ถึงจะมีข้อเสียตรงที่เป็นคนโกรธง่ายและใจร้อน

แต่ก็เชื่อว่าจะได้เป็นนายกฯ อีกยาวนาน

“พอแล้ว ไม่ต้องดูต่อ แค่รู้ว่าประสบความสำเร็จก็พอ”

คำทำนายของพ่อหมอ กับลางสังหรณ์ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ตรงไปตรงมาจนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องรีบออกตัว “คล้ายคนเดิม แต่อาจไม่ใช่คนเดียวกัน”

ไม่มีใครรู้ว่าที่พล.อ.ประยุทธ์ชิงออกตัว เพราะเขินจริงๆ หรือเพราะไม่มั่นใจสถานการณ์นอกวงล้อม เสียงเชียร์

อย่างที่ “นิด้าโพล” เปิดผลสำรวจ “อนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ว่าควรทำงานการเมืองต่อหรือไม่หลังการเลือกตั้ง ในปีหน้า

พบส่วนใหญ่ร้อยละ 50.71 ระบุว่า “ไม่ควร” เหตุผลเพราะอยู่มานาน แต่การบริหารงานต่างๆ ยังไม่ดีเท่าที่ควร เช่น การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ ของประชาชน บ้านเมืองขาดความเป็นประชาธิปไตย เอื้ออำนวยให้กับราชการด้วยกันเอง อยากเห็นคนรุ่นใหม่ เข้ามาบริหารพัฒนาบ้านเมืองบ้าง

ขณะที่ร้อยละ 48.73 บอกว่า “ควร” เพราะบริหารงานได้ดี บ้านเมืองสงบสุข แก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ดี

นอกจากนี้ร้อยละ 51.74 ตอบว่า “ไม่สนับสนุน” ให้พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ อีกหลังเลือกตั้ง ขณะที่ร้อยละ 47.54 ตอบว่า “สนับสนุน”

จากผลโพลที่ออกมาคู่คี่ก้ำกึ่ง สะท้อนถึงเส้นทางสืบต่อ อำนาจ ยังอยู่ในระดับเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น

โดยเฉพาะการที่พรรคคู่แข่งอย่างเพื่อไทย เริ่มตั้งหลักเดินหน้า ปลดล็อกขัดแย้งภายใน จัดประชุมใหญ่เลือกพล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

รองหัวหน้าพรรค 4 คน ได้แก่ นายปลอดประสพ สุรัสวดี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นายเกรียง กัลป์ตินันท์ และพล.ต.ท.สมศักดิ์ จันทะพิงค์

นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นเลขาธิการพรรค ส่วนรองเลขาธิการพรรค 4 คน คือ นายดนุพร ปุณณกันต์ น.ส.อนุตตมา อมรวิวัฒน์ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล และนายธวัชชัย สุทธิบงกช

นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ เป็นโฆษกพรรค นาย ทวีศักดิ์ อนรรฆพันธุ์ เป็นเหรัญญิกพรรค นายจักรพงษ์ แสงมณี เป็นนายทะเบียนสมาชิกพรรค นายพิทยา พุกกะมาน และนายปรีชา ธนานันท์ เป็นกรรมการบริหาร พรรค

นอกจากนี้ยังตั้งนายเสนาะ เทียนทอง เป็นประธานพรรค

ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พ่วงกับกระแสข่าวเตรียมมีชื่อเป็น 1 ใน 3 รายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคในการเลือกตั้ง

แม้การเมืองช่วง 4-5 ปีในยุครัฐบาลคสช.

จะตกเป็นฝ่ายถูกกระทำอยู่ข้างเดียว แต่จากประวัติ ศาสตร์การเลือกตั้งในปี 2551 และในปี 2554 ก็เป็น บทเรียนของกลุ่มอำนาจ ว่าหากไม่อยากให้การรัฐประหาร “เสียของ”

ก็อย่าประมาทพรรคเพื่อไทยเด็ดขาด

หรือต่อให้ยังมี “ไพ่ตายยุบพรรค” อยู่ในมือ แต่การหาเรื่องทิ้งไพ่ลงมาตอนนี้ ก็ดูเหมือนว่าจะสายเกินไป อีกทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดกระแสตีกลับ กลายเป็นการเรียกคะแนนสงสารให้พรรคเพื่อไทย

ส่งผลร้ายต่อกลุ่มผู้มีอำนาจเอง

ขณะที่ยุทธศาสตร์การ “แตกตัว” ของพรรคเพื่อไทย เพื่อรับมือกกฎกติกาที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเฉพาะ การเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” คือความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตา

จากเริ่มแรกแตกออกเป็นพรรคเพื่อธรรม ตามมาด้วยพรรคเพื่อชาติ ล่าสุดพรรคไทยรักษาชาติ หรือทษช. เตรียมที่จะเปิดตัวอีกพรรคในวันที่ 7 พ.ย.นี้

ถึงกระนั้นในเบื้องต้นยังคงวางยุทธศาสตร์ให้พรรคเพื่อไทย เป็น “ทัพหลวง” ของพรรคการเมือง ซีกประชาธิปไตย ซึ่งหมายถึงพรรค ที่อยู่ตรงข้ามกับพรรคทหาร คือพรรคพลังประชารัฐ

ทั้งนี้ ได้มีการวางบทบาทให้พรรคไทยรักษาชาติ มุ่งเน้นไปที่การช้อนคะแนนส.ส.บัญชีรายชื่อ ส่วนการเลือกตั้งส.ส. แบบเขต ความสำคัญยังอยู่ที่พรรคเพื่อไทย เป็นหลัก

สำหรับพรรคเพื่อธรรมจะทำหน้าที่เหมือนเป็น “ล้ออะไหล่” หากพรรค เพื่อไทยประสบอุบัติเหตุถูกฝ่ายตรงข้าม “เจาะยาง” ด้วยการ “ยุบพรรค” จะได้มีล้ออะไหล่มาสวมขับเคลื่อนต่อไปได้

ส่วนพรรคเพื่อชาติ ของนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย กับนปช.คนเสื้อแดงบางส่วน จะมีสถานะเป็นพรรคแนวร่วม ต่างคนต่างหาเสียง ได้ส.ส.เท่าไหร่ก็เท่านั้น และจะมาบรรจบกันเมื่อถึงปลายทาง

ขยายความต่อจากที่นายทักษิณ ชินวัตร เคยให้สัมภาษณ์สื่อเอ็นเอชเค ของญี่ปุ่นว่า ในการเลือกตั้งของไทยที่กำลัง จะมีขึ้นภายในต้นปี 2562

เชื่อว่าพรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะได้ ที่นั่งในสภาเกิน 300 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง

ในรายละเอียดยุทธศาสตร์ระดับลึก ลงไปก็คือ พรรคเพื่อไทยอาจจะได้ส.ส. ไม่ถึง 250 ที่นั่งก็จริง เพราะเป็นเรื่องยาก แต่หากอยู่ในระดับ 210-220 ที่นั่ง

เมื่อผนวกเข้ากับพรรคอื่นในฝ่ายประชาธิปไตย อย่างพรรคประชาชาติ และพรรคอนาคตใหม่ ก็คาดว่ารวมกันน่าจะมีส.ส.ในมือเกิน 280 ที่นั่งขึ้นไป

ด้วยตัวเลขจำนวนนี้เพียงพอจะเป็น “แรงดึงดูด” ให้พรรคขนาดกลาง เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคภูมิใจไทย ที่มีบทบาทเป็น “ตัวแปร” ในการจัดตั้งรัฐบาล ต้องยอมรับฟังเสียงประชาชนผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง

และตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่ายประชาธิปไตยในที่สุด ซึ่งถ้าเป็นไปตามนี้ก็จะมีส.ส.รวมกันกว่า 300 ที่นั่ง

ถึงอีกฝ่ายจะมี 250 ส.ว.เป็นแต้มต่อ ช่วยให้สามารถเลือกนายกฯ และตั้งรัฐบาลตามที่ต้องการได้ แต่ก็เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย และเมื่อต้องเผชิญกับการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาที่ส.ว.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ตรงนี้เองที่ท้าทายลางสังหรณ์ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ว่าถึงนายกฯ คนต่อไปจะหน้าตาคล้ายคนเดิม แต่อาจไม่ได้อยู่ยาวเหมือนอย่างที่ “พ่อหมอแก้วมูล” ทำนายไว้

แต่รัฐบาลเสียงข้างน้อยจะมีอายุสั้นเพียงแค่ ไม่กี่สัปดาห์

เหมือนอย่างที่ “พ่อหมอแม้ว” ทำนายไว้เสียมากกว่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน