บทบรรณาธิการ : ตรวจนโยบาย

บทบรรณาธิการ : ระหว่างที่ประชาชนจำนวนมากรอฟังกำหนดวันเลือกตั้ง สมาชิกพรรคการเมืองต่างๆ เดินสายหาเสียงกันมากขึ้นและถี่ขึ้นแล้ว

การต่อปากต่อคำและใช้วาทะตอบโต้คู่แข่ง ของนักการเมืองพรรคต่างๆ เป็นไปตามวิถีและบรรยากาศปกติของการเลือกตั้ง

เช่นเดียวกับการเกริ่นถึงนโยบายของพรรค และการเปิดตัวผู้สมัครที่จะเป็นตัวแทนชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคนั้นๆ ให้เป็นทางเลือกที่ชัดเจนของประชาชน เหมือนกับการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ

แต่ที่เพิ่มเติมขึ้นมาตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญคือการนำเสนอนโยบายที่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ตรวจสอบพิจารณา

สํานักงาน กกต.เพิ่งเผยแพร่หนังสือตอบ ข้อซักถามพรรคการเมือง เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้ในการประกาศโฆษณา ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 57 ว่าไม่มีกฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองจะต้องแจ้งนโยบายที่จะใช้ในการประกาศ โฆษณาเพื่อใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งต่อ กกต.

หมายความว่าพรรคใดจะเริ่มโฆษณาประชาสัมพันธ์นโยบายให้ทำได้เลย ไม่ต้องส่งมาแจ้ง กกต.ก่อน

อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายที่ระบุในรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ สุดท้ายแล้ว กกต.ต้องเป็นผู้ตรวจเนื้อหาในภายหลัง ไม่ว่าวงเงินที่ใช้ ที่มาของเงิน ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย

กรณีนี้ยังไม่เคยใช้มาก่อน

การหาเสียงด้วยนโยบายต่างๆ ที่พรรคการเมือง นำเสนอนั้น ปกติแล้วประชาชนเป็นผู้ตรวจสอบและตัดสินเอง ว่าเพ้อฝัน เกินจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นวิถีทางที่ประเทศประชาธิปไตยใช้เหมือนกันทั่วโลก

เมื่อนักการเมืองหรือพรรคการเมืองเข้ามาบริหารแล้วทำได้จริงหรือไม่ จึงเป็นเรื่องของการตรวจสอบของประชาชนอีกขั้นหนึ่ง

เหมือนในสหรัฐอเมริกาที่เกิดภาวะชัตดาวน์ อยู่ในขณะนี้ เนื่องจากการตั้งงบประมาณสร้างกำแพงมูลค่า 1.8 แสนล้านบาทของรัฐบาลยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เพราะยังมีประชาชนอีกฝ่ายต่อต้าน

การใช้เงินของรัฐบาลมีรัฐสภากำกับดูแลอยู่ ไม่ใช่หน้าที่ของคนจัดการเลือกตั้งให้โปร่งใสยุติธรรมต้องมาวุ่นวาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน