ไม่เพียงแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะปฏิเสธการเข้าร่วมเวทีดีเบตประชันวิสัยทัศน์ทางการเมือง กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

หากคนจากพรรคพลังประชารัฐก็ค่อยอำลาจากเวทีดีเบตประชันวิสัยทัศน์

เหตุผลก็ดังที่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ยืนยัน

“การที่เราไม่ไปดีเบตเพราะเราพูดไม่เก่ง แต่ทำเก่งกว่า เราอาจไม่มีประสบการณ์เหมือนพรรคอื่นแต่เราดีกว่าและจริงใจกว่า หลายๆพรรค”

น่าสังเกตว่าไม่เพียงแต่พรรคพลังประชารัฐเท่านั้นหากพรรครวมพลังประชาชาติไทยก็ทยอยถอยออกจากเวทีดีเบต

นี่ย่อมเป็นเรื่องแปลกอย่างยิ่งในทางการเมือง

แม้จะระบุว่าพรรคพลังประชารัฐพูดไม่เก่ง แต่หากกล่าวสำหรับพรรครวมพลังประชาชาติไทยแล้วไม่น่าจะใช่

อย่างน้อยแกนนำก็เคยเป็น “นักเคลื่อนไหว”

หากมิได้เคยเป็นโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็เคยเป็นนักพูดคนสำคัญของกปปส.บนเวทีปราศรัยเบื้องหน้ามวลมหาประชาชน

ขณะเดียวกัน หากสำรวจฐานความรู้ ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทยก็มากด้วย”ดอกเตอร์” บางคนระบุว่ามีปริญญามากกว่า 5 ใบด้วยซ้ำ

เหตุใดจึงทยอยถอยออกจากเวทีดีเบตประชันวิสัยทัศน์ทั้งๆที่ มากด้วยวิสัยทัศน์

หรือเพราะเห็นว่าไร้สาระเหมือนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยระบุ หรือเพราะเห็นว่าดีเบตของสังคมไทยแตกต่างไปจากดีเบตของต่างประเทศ

หรือเพราะว่ายิ่งดีเบตยิ่งเปิดวิสัยทัศน์สถานะของพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทยกลับตกเป็น”จำเลย”

ยิ่งใกล้วันที่ 22 มีนาคม บทบาทของพรรคพลังประชารัฐ บทบาทของพรรครวมพลังประชาชาติไทย ยิ่งเข้ามาดำรงอยู่ในระนาบเดียวกัน

นั่นก็คือ ระนาบของการพูดฝ่ายเดียว ไม่ชมชอบการโต้แย้ง

นั่นก็คือ ระนาบอัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงอยู่นับแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

นั่นก็คือ การสื่อสารทางเดียว มิใช่การสื่อสารหลายทาง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน