รับมือภัยแล้ง

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

 

รับมือภัยแล้ง – สัญญาณของภัยแล้งเริ่มปรากฏในพื้นที่หลายแห่งของประเทศแล้ว และเป็นเรื่องที่ต้องเร่งหามาตรการรับมือ

โดยเฉพาะกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องที่ต้องให้การทำงานเป็นไปอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยไม่ต้องรอการปรับเปลี่ยนรัฐบาลจากผลการเลือกตั้งปลายเดือนมีนาคม

การที่ประเทศไทยเคยมีบทเรียนครั้งใหญ่มาแล้วจากเหตุอุทกภัยครั้งร้ายแรงเมื่อปี 2554 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้ง จึงไม่ควรซ้ำรอยอีก

แม้ว่าบทเรียนครั้งก่อนจะเป็นผลมาจากน้ำมาก ส่วนครั้งนี้ที่เผชิญอยู่คือเรื่องน้ำน้อย

แต่ทั้งสองสถานการณ์ล้วนเป็นเรื่องการบริหารจัดการน้ำเช่นเดียวกัน

ภัยแล้งปีนี้เป็นสถานการณ์ที่น่าวิตก เนื่องจากสหประชาชาติระบุว่า ปี 2019 หรือ 2562 จะเป็นปีที่อากาศร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์

มีสาเหตุจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ภาวะโลกร้อน

ข้อมูลเดือนมีนาคม จากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และการประปาส่วนภูมิภาค พบความเสี่ยงขาดแคลนน้ำดิบในช่วงฤดูแล้งปี 2561/62 และการแก้ไขปัญหาและเฝ้าระวัง ในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือ

อีกทั้งยังพบว่าเขื่อนที่วิกฤตมีน้ำน้อยกว่า 30% มีจำนวนมาก นับเฉพาะเขื่อนขนาดกลางมีแล้ว 13 เขื่อน ที่ไม่เหลือน้ำใช้แล้วอยู่ในภาคอีสาน

การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของหน่วยงานรัฐขณะนี้ ได้แก่ การสูบน้ำ และจัดสรรน้ำตามช่วงเวลา รวมถึงการเจาะบ่อบาดาล

3 กระทรวง ได้แก่ มหาดไทย กลาโหม เกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบและเตรียมมาตรการรองรับพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เพื่อปรับแผนการจัดสรรน้ำ

ขณะที่ชาวบ้านเรียกร้องของบประมาณสำหรับขุดลอกแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยการกระจาย อำนาจจากภาคการเมืองเพื่อให้แต่ละท้องถิ่นตัดสินใจ

ส่วนกองทัพน่าจะเป็นหน่วยงานสำคัญในการปฏิบัติตามแนวทางการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ เหมือนเมื่อปี 2554 ไม่ว่าพรรคใดจะได้มาเป็นรัฐบาล

อ่านข่าว

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน