ฝ่ายประชาธิปไตย

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

 

หัวข้อสนทนาเข้มข้นทางการเมืองที่ยัง มีมาต่อเนื่องคือ เหตุใดจึงมีคำว่าฝ่ายประชาธิปไตย หรือแนวร่วมประชาธิปไตย เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งและหลัง

ผู้คับข้องใจกับคำนี้มาก ส่วนใหญ่แล้วสนับสนุนการถ่ายโอนอำนาจรัฐบาลชุดปัจจุบันไปสู่รัฐบาลใหม่

ด้วยคิดว่าการลงสู่สนามเลือกตั้งแล้ว ย่อมมีความเป็นประชาธิปไตยเช่นกัน หากถูกแยกออกมา จึงแสดงอาการไม่สบายใจหรือน้อยใจที่ถูกผู้คนจำนวนมากสะท้อนความเห็นโจมตีใน โลกออนไลน์ และพยายามต่อสู้ว่าการหวงประชาธิปไตยไว้ฝ่ายเดียวนั้นไม่ถูกต้อง

แต่การต่อสู้ประเด็นนี้ยิ่งทำให้ภาพของความไม่เข้าใจประชาธิปไตยแจ่มชัดขึ้น

ประชาธิปไตยเป็นคำที่มีความหมายถึงความเสมอ ภาคทางการเมือง และการเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมความเสมอภาค ด้วยการเปิดให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากัน

การเลือกตั้งหลายๆ ครั้งที่ผ่านมามักมีความได้เปรียบและเสียเปรียบระหว่างพรรครัฐบาลเดิมกับพรรคอื่นที่เป็นคู่แข่ง

โดยเฉพาะการเลือกตั้งหลังเหตุการณ์รัฐประหาร มักมีข้อวิจารณ์ถึงการใช้กลไกราชการที่มักอำนวยความสะดวกให้ได้

ยิ่งในครั้งนี้เกิดความกังขามากเป็นพิเศษ จนเกิดผลกระทบที่เป็นคำถามถึงความเสมอภาคทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันต่อไป

ความชัดเจนที่แบ่งคั่นแนวร่วมประชาธิปไตยกับกลุ่มตรงข้ามก็คือ การสานต่อหรือสืบทอดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร

รัฐประหารไม่ว่าจะเป็นไปโดยสงบหรือไม่ คือการยึดอำนาจจากประชาชนและทำลายความเสมอภาคทางการเมืองขั้นร้ายแรงที่สุด ตรงกันข้ามที่สุดกับประชาธิปไตย

การรวมตัวของนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และต้องการให้ประชาชนใช้สิทธิและเสียงผ่านตัวแทนในรัฐสภา แก้ไขหรือร่างกฎหมาย รวมถึงจัดตั้งรัฐบาลที่กำหนดนโยบายและการใช้จ่ายงบประมาณได้ จึงย่อมหวงแหนประชาธิปไตยไม่ให้ถูกละเมิดหรือบิดเบือน

การกำหนดตนเองว่าเป็นฝ่ายประชา ธิปไตย จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน