วิกฤต

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

วิกฤต – แม้เวลาจะผ่านไปเกือบ 2 สัปดาห์ นับจากวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไป แต่กระนั้น กกต. ก็ยังไม่สามารถประกาศผลคะแนนเสียงการเลือกตั้งของส.ส.ในระบบปาร์ตี้ลิสต์ออกมาได้

ซ้ำยังให้สัมภาษณ์ในทำนองว่า ยังไม่ตกลงใจว่าจะใช้สูตรไหนคำนวณการคิดจำนวนส.ส. โดยมีการเชิญกรรมาธิการผู้ยกร่างกฎหมายเลือกตั้งมาหารือ และอาจเตรียมส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าควรทำอย่างไร

คำถามที่ดังขึ้นจากสังคมก็คือ แล้วการคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์นั้นยุ่งยากซับซ้อนดังเช่นที่ปรากฏจริงหรือ

หรือมีเหตุผลอื่นที่ทำให้ กกต. ละล้าละลังที่จะประกาศผล

ที่สังคมส่วนหนึ่งตั้งคำถามเช่นนั้นมีที่มาที่ไป

เนื่องจากผลการเลือกตั้งครั้งนี้ คะแนนเสียงระหว่างฝ่ายที่คัดค้านการสืบทอดอำนาจและฝ่ายที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. นั่นคู่คี่ใกล้เคียง

การเบี่ยงเบนของจำนวนส.ส.เพียง 1 หรือ 2 ที่นั่ง ก็อาจจะตัดสินชี้ชะตาว่าฝ่ายใดจะสามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี หรือฝ่ายใดจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

เมื่อเดิมพันในการเลือกตั้งสูงเช่นนี้ สวนทางกับผลการเลือกตั้งที่ล่าช้าและมีแนวโน้มว่าจะไม่เรียบร้อย คนทั่วไปย่อมตั้งคำถามขึ้นเป็นธรรมดา

ว่าทำไมกระบวนการเลือกตั้งที่ควรจะสุจริตโปร่งใส จึงดูเหมือนล่าช้าและไม่ตรงไปตรงมา

สิ่งที่ กกต. ควรจะตระหนักก็คือ ความไม่เรียบร้อยของการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาถึงขั้นวิกฤตแต่เฉพาะกับองค์กร กกต. เอง

หากแต่ยังเป็นวิกฤตสำหรับรัฐบาล และ คสช. ในฐานะผู้มีอำนาจที่อาจถูกข้อหาว่า เป็นใจให้เกิดสถานการณ์อันไม่เรียบร้อย

และหากยังลุกลามต่อเนื่องต่อไป ก็อาจจะกลายเป็นวิกฤตของสังคม อันเนื่องมาจากความไม่เชื่อถือ ไม่เหลือองค์กร-สถาบันใดให้เป็นหลักยึดได้

แต่ปัญหาที่ชัดเจนเห็นอยู่ตรงหน้าเหล่านี้ สามารถแก้ไขได้โดยง่าย ด้วยการดำเนินการทุกอย่างให้ฉับไว สุจริต โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน

คำถามก็คือ ใครหรือองค์กรไหนไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้บ้าง

อ่านข่าว

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน