‘หุ้นสื่อ’การเมือง คอลัมน์ ใบตองแห้ง

มติศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง “หุ้นสื่อ” ส.ส.รัฐบาล 32 คน โดยไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ มีนิมิตหมายอันดี ดังที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล ตั้งข้อสังเกตว่า ศาลอธิบายรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) ว่า “มิใช่เพียงมีเจตนาหรือความประสงค์ที่จะทำกิจการดังกล่าวเท่านั้น” จึงน่าจะใช้เกณฑ์ต่างจากศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ที่ดูเพียงวัตถุประสงค์ในหนังสือบริคณห์สนธิ

ยิ่งถ้าดูคำอธิบาย ข้อแตกต่างระหว่างธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับ 32 ส.ส. ก็ดูเหมือนชัดเจนขึ้นว่า จะดูเพียงหนังสือบริคณห์สนธิเท่านั้นไม่ได้ เพราะคดีธนาธร ที่ผ่านการสอบสวนจาก กกต.มีแบบ สสช.1 และงบการเงินปี 2554-2558 ว่ามีรายได้จากการทำนิตยสาร

คือต้องมีหลักฐานให้สงสัยว่าทำสื่อจริง ศาลจึงสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส่วนศาลจะใช้เกณฑ์นี้ในการวินิจฉัยหรือไม่ ต้องรอดูกันต่อไป

ในเบื้องต้นก็ต้องยินดีกับ 32 ส.ส. และอีก 9 คนที่ศาลไม่รับ เพราะไม่เห็นด้วยที่ใครต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หรือขาดสมาชิกภาพ เพียงเพราะถือหุ้นบริษัท ที่ไม่ได้ทำสื่อจริง แค่เขียนวัตถุประสงค์ไว้กว้างขวาง ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ

อย่างไรก็ดี หากยึดหลักการนี้ ยึดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ที่ไม่ต้องการให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ใช้หุ้นสื่อเอาเปรียบคู่แข่ง ผู้ที่เห็นว่า 32 ส.ส. “ไม่ผิด” ก็ควรจะเห็นว่าธนาธร “ไม่ผิด” เช่นกัน แม้มีรายละเอียดไม่เหมือนกัน แต่ระหว่าง “หุ้นสื่อที่ไม่มีสื่อจริง” กับ “หุ้นสื่อที่ไม่มีสื่ออยู่แล้ว” ต่างก็ไม่สามารถใช้สื่อเอาเปรียบคู่แข่งได้ทั้งคู่

เพียงแต่คดีในศาลต่างกัน คือ 32 ส.ส.จะต้องพิสูจน์ว่าไม่ได้ทำสื่อจริง ขณะที่ธนาธรจะต้องพิสูจน์ว่านิตยสารแฟชั่นนั้นปิดตัวเองไปนานแล้ว

ส.ส.พลังประชารัฐ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ทั้งที่ศาลรับและ ไม่รับคำร้อง ยอมรับความจริงข้อนี้ไหม ว่าทั้งพวกคุณและ ธนาธร ต่างก็ไม่ได้ใช้หุ้นสื่อเอาเปรียบใคร หรือจะเอาแต่อ้างว่าไม่เหมือนกัน ตัวเองไม่ผิด ธนาธรสิผิด สมควรขาดสมาชิกภาพ โดนเอาผิดติดคุกยุบพรรค พรรคอนาคตใหม่ควรยอมรับ อย่ามากดดันศาล ฯลฯ

การเอาแต่เล่นเกมการเมือง หวังใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกำจัดคู่แข่ง นั่นต่างหากที่ทำให้เกิดแรงกดดันศาล ตลกร้ายคือความพยายามโยนให้อีกฝ่ายผิด ทั้งที่ต่างก็ไม่มีใครใช้หุ้นสื่อเอาเปรียบคู่แข่ง

หุ้นสื่อ ถูกนำมาร้องเอาผิดธนาธร พรรคอนาคตใหม่ซึ่งมี ผู้สมัครถูกตัดสิทธิ ก็เลยร้อง ส.ส.รัฐบาลบ้างเพื่อสร้างบรรทัดฐาน รัฐบาลก็เลยร้องฝ่ายค้าน จนเรื่องบานไปถึง ส.ว. (ซึ่งก็น่าขัน ป้อมยอมรับ ตอนนั้นมันมั่ว) กลายเป็นคดีสั่นสะเทือน ทั้งรัฐบาลฝ่ายค้าน เข้าไปลุ้นกันในศาล ทั้งที่ไม่ใช่สาระสำคัญที่ทำให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม

ทีเรื่องการนับคะแนนของ กกต. ทีเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส. กลับเงียบหายไป เรื่องการทุจริตซื้อเสียงโจ๋งครึ่ม อย่างที่วันมูหะมัดนอร์ มะทา, รังสิมา รอดรัศมี อภิปรายในสภา ไม่ยักมีคนสนใจ ป่านฉะนี้ นอกจากจับ ส.ส.เพื่อไทยถวายเงินพระสองพัน กกต.ยังจับทุจริตเลือกตั้งไม่ได้เลย ทั้งที่รัฐธรรมนูญมีชัยตั้ง ผู้ตรวจการเลือกตั้งให้สี่ร้อยกว่าคน (ประกาศหาคนหาย)

ประเทศนี้ถนัดนักกับการจับผิดกันด้วยตัวอักษร กฎเกณฑ์หยุมหยิม ที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ว่าที่จริง แม้แต่ภริยาดอน ปรมัตถ์วินัย ถือหุ้นเกิน 5% ในกิจการอพาร์ตเมนต์ของครอบครัว ก็ไม่เห็นทับซ้อนอะไรกับการเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ตั้งกติกาบ้าจี้ล้นเกิน

ยกตัวอย่าง “หุ้นสื่อ” ไร้สาระ อดีต กกต.สมชัยเคยเผยว่า กกต.คนหนึ่งไม่ผ่านสรรหารอบแรก เพียงเพราะถือหุ้นหนึ่งหุ้นมูลค่าไม่กี่ร้อยบาท ในบริษัทที่เขียนวัตถุประสงค์ 1 ใน 80 ข้อว่าทำสื่อ

การสรรหา กสทช.เมื่อปีที่แล้ว สนช.มีมติคว่ำ โดยอ้างว่า 8 ใน 14 ผู้ผ่านการสรรหาถือหุ้นวิทยุโทรทัศน์โทรคมนาคม ซึ่งเป็นคุณสมบัติต้องห้ามตาม พ.ร.บ.กสทช. คล้ายกับหุ้นสื่อ

ทั้งที่คณะกรรมการสรรหาโต้แย้งว่า การอ้างคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ให้วินิจฉัยคุณสมบัติตามหนังสือบริคณห์สนธินั้น น่าจะไม่ถือเป็นบรรทัดฐาน เพราะมีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในอีกคดีว่า ต้องดูว่ามีสื่อจริงหรือไม่ โดยคดีดังกล่าว ผู้ร้องเป็นกรรมการบริษัทไอทีวี ซึ่งถูกยึดคืนไปแล้ว ไม่มีสื่ออยู่แล้ว เพียงแต่บริษัทยังไม่เลิกกิจการ (คล้ายหุ้นวีลัค) ผู้ร้องถูกตัดออกจากการสรรหาซูเปอร์บอร์ด กสทช. ศาลก็คืนสิทธิให้

คณะกรรมการสรรหาซึ่งมีอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธาน จึงใช้วิธีตรวจสอบว่า “หุ้นสื่อ” ได้ขอใบอนุญาตประกอบการจาก กสทช.หรือไม่ เพราะนั่นคือข้อพิสูจน์ว่าทำสื่อจริง

แต่ สนช.ก็คว่ำการสรรหาไปแล้ว จึงไม่มี กสทช.จนบัดนี้ มีแต่ ม.44 ยืดอายุสมใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน