FootNote:ปฏิกิริยาแคนนอนการเมือง งูเห่า รัฐประหาร รัฐธรรมนูญ

สถานการณ์อันเกิดขึ้นที่ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เป็นสถานการณ์เดียว กันกับที่เคยเกิดขึ้นที่ อ.เมือง จ.ชลบุรี และเป็นสถานการณ์เดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นที่ปทุมธานี

จะต่างก็เพียงในเรื่องของเป้าหมายอันเป็น”ตัวบุคคล” จะต่างก็เพียงแต่ปฏิกิริยาและความร้อนแรง

เพราะว่าที่ชลบุรีเป็น น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ พรรคอนาคตใหม่ เพราะว่าที่ปทุมธานีเป็น น.ส.พรพิมล ธรรมสาร พรรคเพื่อไทย ขณะที่ที่เชียงใหม่เป็น น.ส.ศรีนวล บุญลือ พรรคอนาคตใหม่

ลักษณะการเคลื่อนไหวแสดงความไม่พอใจดำเนินไป 2 กระแสอย่างมิได้นัดหมาย 1 เคลื่อนไหวในโลกโซเชียล 1 ก่อให้เกิดปฏิบัติการชุมนุมและวางหรีดแสดงความไม่พอใจ

“ปฏิกิริยา” เช่นนี้สะท้อนนัยยะอะไรในทาง”การเมือง”

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอาจถือว่ากรณี”งูเห่า”เกิดขึ้นครั้งแรกใน การจัดตั้งรัฐบาล นายชวน หลีกภัย เมื่อปี 2540 เมื่อ ส.ส.พรรคประชากรไทย แตกแถวไปหนุนพรรคประชาธิปัตย์

ทั้งๆที่แท้จริงแล้วพฤติกรรม”งูเห่า” เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490 มาแล้ว

กระนั้น ปฏิกิริยาในทางสังคมแม้จะมีแต่ก็ไม่อึกทึกครึกโครม

อย่างมากที่สุดก็ใช้กระบวนการลงโทษเมื่อเข้าสู่กระบวนการการ เลือกตั้งสมัยต่อไป

แต่ในยุคหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ในยุคหลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 เป็นต้นมา

ปฏิกิริยาของประชาชน ปฏิกิริยาในทางสังคม ปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัดทั้ง “ออนไลน์” และ “ออนกราวนด์”

นี่คือผลด้านกลับอันเนื่องแต่รัฐประหาร นี่คือผลด้านกลับอันเนื่องแต่รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเครื่องมือของขบวนการรัฐประหาร

สะท้อนความตื่นตัวของสังคม ความตื่นตัวของประชาชน

ประชาชนไม่เพียงแต่ไม่พอใจต่อพฤติกรรมของ “งูเห่า” หากแต่ยังรู้อย่างลึกซึ้งด้วยว่าขบวนการรัฐประหารมีส่วนอย่างสำคัญทำให้เกิดพฤติกรรมเลวร้ายเช่นนี้ทางการเมือง

ปฎิกิริยาที่แสดงออกอย่างเปิดเผยต่อ “งูเห่า”จึงเสมอเป็นเพียงทางผ่าน ตีลูกแคนนอนในทางการเมืองไปยังรัฐประหารไปยังรัฐธรรมนูญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน