FootNote:สถานการณ์มินิฮาร์ตจุดประกาย ขยายไปยังสถานการณ์หลั่งน้ำตา

ไม่ว่ากรณี “มินิฮาร์ต”ในท่ามกลางประชาชนที่นครราชสีมา ไม่ว่ากรณีหันหลัง”หลั่งน้ำตา”ในระหว่างการแถลงแจกแจงความเป็นจริงของการ สังหารโหด

กำลังเป็น “บทเรียน” อันทรงความหมายยิ่งของความไม่เป็นเอกภาพระหว่าง “เจตนา” กับ “ผล”

นั่นก็คือ เจตนาเป็นอย่างหนึ่ง แต่ผลกลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง

หากกระบวนการสำแดง”มินิฮาร์ต”เพื่อแสดงความรัก ความปรารถนาดี คำถามก็คือ แล้วเหตุใดที่สวนกลับมากลายเป็นความโกรธ กริ้วไม่พอใจ

หากกระบวนการหันหลังแล้ว”หลั่งน้ำตา”ต้องการสะท้อนความเสียใจแล้วเหตุใดที่กระหึ่มตามมาคือเรียกร้อง”ความรับผิดชอบ”

ปลายหอกพุ่งใส่”มินิฮาร์ต” ปลายหอกหักกลบ”หยาดน้ำตา”

ยิ่งเมื่อผบ.ทบ.ปล่อยคำคมที่ว่า “ทันทีที่มีการลั่นกระสุนคนๆนั้นก็หมดสิ้นจากความเป็นทหารแล้วอย่างสิ้นเชิง” หากกำลังแปรตัวเองไปเป็นเช่น “อาชญากร”อย่างเด่นชัด

ยิ่งก่อให้เกิด “คำถาม” และนำไปสู่การเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ ในอดีตอย่างแหลมคม

ไม่ว่าจะเป็นอดีตเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

ไม่ว่าจะเป็นอดีตเมื่อทหารตัดสินใจลากปืนและรถถังออกมาก่อรัฐประหาร ไม่ว่าเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ยิ่งกว่านั้นยังมีคำถามอีกว่า หากว่าคนๆนั้นมิใช่ทหารแล้ว”อาวุธ”ที่อยู่ในมือแล้วสาดกระสุนเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าใส่ประชาชนยังถือว่าเป็นปืนและกระสุนของทางราชการอยู่หรือไม่

คำถามนี้นับวันจะกึกก้องและทวงถามความรับผิดชอบ

ประเด็นที่เดินพาเหรดเข้าใส่กระทรวงกลาโหม เข้าใส่กองทัพบก นับวันยิ่งมีความแหลมคม

แหลมคมอย่างเป็นทางการ แหลมคมอย่างเป็นส่วนตัว

กองทัพซึ่งเคยเป็นองค์กรที่อยู่ในแวดวงของทหารมาโดยตลอดเริ่มถูกนำมาวางแบอยู่เบื้องหน้าประชาชน พร้อมกับคำถามตามมาจำนวนมากมาย

เป็นกองทัพในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นกองทัพในยุค พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์

สถานการณ์ยากที่จะจบลงอย่างง่ายดายและรวดเร็ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน