FootNote:ฉุกเฉิน เดือนมีนาคม 2563 กับ เดือนพฤษภาคม 2563

ระหว่างการประกาศและบังคับใช้สถานการณ์”ฉุกเฉิน”ในเดือนมีนาคม กับ การประกาศและบังคับใช้สถานการณ์”ฉุกเฉิน”ในเดือนพฤษภาคม มีทั้งความเหมือนและความต่าง

เหมือนตรงที่ถึงอย่างไรก็เป็นการประกาศและบังคับใช้สถานการณ์”ฉุกเฉิน”ฉบับเดียวกัน

แต่ต่างตรงที่เป็นเดือน”มีนาคม”กับเดือน”พฤษภาคม”

เวลาจากวันที่ 26 มีนาคม มายังวันที่ 26 เมษายน และวันที่ 26 พฤษภาคม มีความแตกต่างกันเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะหากถือเอาการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 เป็นบรรทัดฐาน

ความรู้สึกของประชาชนเมื่อวันที่ 26 มีนาคมพร้อมยอมรับเต็มเปี่ยม เห็นชอบด้วยกับมาตรการ”เข้ม”อันออกมาจากรัฐบาลแต่ในวันที่ 26 พฤษภาคมไม่เต็มเปี่ยม

ทั้งยังมีความรู้สึกมากยิ่งขึ้นว่าสถานการณ์”ฉุกเฉิน”อาจเป็นความแปลกแยก ไม่เหมาะสม

ความรู้สึก 1 มาจากความเป็นจริงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย ข้อมูลที่ศบค.นำมาแถลงน้ำหนักจึงเป็นของโลกมากกว่าเป็นของไทย

ขณะเดียวกัน ภายในภาวะผ่อนคลายของการแพร่ระบาดสังคมยอมรับตรงกัน 1 คือผลสะเทือนทางด้านเศรษฐกิจ

ไม่เพียงเพราะเป็นผลสะเทือนโดยตรงจากสภาพการณ์ที่เป็นอย่างเดียวกันทั่วโลก หากแต่ที่มีความรู้สึก”ร่วม”อย่างเป็นพิเศษเป็นเพราะมาตรการ”เข้ม”อันมีลักษณะเฉพาะจากรัฐบาล

นั่นก็คือ ดำเนินมาตรการ”เข้ม”โดยมิได้มีการตระเตรียมในด้านการช่วยเหลือ เยียวยา อย่างเป็นระบบ

ตรงนี้ที่ทำให้เห็นว่า สถานการณ์”ฉุกเฉิน”ไม่เพียงแต่ส่งผลสะเทือนให้ความลำบากยากเข็ญแผ่กระจายออกไปอย่างกว้าง ขวาง หากแต่ได้สะท้อนให้เห็นจุดอ่อนของรัฐบาล

มีความจำเป็นต้องทบทวนและยุติสถานการณ์”ฉุกเฉิน”มากกว่าที่จะยืดอายุออกไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

ในเดือนมีนาคม ประชาชนเห็นชอบด้วยกับสถานการณ์”ฉุกเฉิน”เพราะตระหนักในอันตรายแห่งการแพร่ระบาดของไวรัส แต่เมื่อยืดเวลาในเดือนพฤษภาคม ประชาชนเริ่มไม่เห็นด้วย

เป็นความไม่เห็นด้วยเพราะตระหนักว่าเหตุผลในการประกาศและบังคับใช้มิใช่เรื่องของ”สุขภาพ”

หากสะท้อนเจตนประสงค์ในทาง”การเมือง”อย่างเด่นชัด

เท่ากับเป็นการอาศัยสถานะที่ได้เปรียบจากการประกาศและบังคับใช้สถานการณ์”ฉุกเฉิน”มาเป็นเครื่องมือในทางการเมือง ในทางการควบคุมสังคม

ความรู้สึกอย่างหลังมากด้วยความอ่อนไหวในทางการเมือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน