FootNote:ปฏิกิริยาจากธุรกิจ เอกชน ยืดอายุสถานการณ์ฉุกเฉิน

การต่ออายุพรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน แตกต่างไปจากการประกาศและบังคับใช้เมื่อเดือนมีนาคม

แตกต่างตรงที่ไม่ได้มีการให้เหตุผลในเรื่อง”สุขภาพเหนือเสรี ภาพ”อย่างที่เคยเน้นย้ำเมื่อ 3 เดือนก่อน

แตกต่างตรงที่บทบาทนำมิได้เป็นบรรดา “อาจารย์หมอ” จากราชวิทยาลัยอย่างเมื่อเดือนมีนาคม ตรงกันข้ามบทบาทนำกลับเป็น”สภาความมั่นคงแห่งชาติ”

แตกต่างตรงที่เมื่อเดือนมีนาคม สังคมให้การยอมรับต่อการ ประกาศและบังคับใช้เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส คือปัญหาเฉพาะหน้าและมีลักษณะต้อง”ร่วมรับผิดชอบ”

ขณะที่การประกาศและบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคมลักษณะ “ร่วม”เช่นนั้นมิได้เหลืออยู่แล้ว

“ปฎิกิริยา”จึงสะท้อนกลับอย่างกว้างขวางและโดยพลัน

ความรู้สึก”ร่วม”อันสะท้อนสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคมไทยนั้น สัมผัสได้ทั้งจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน สัมผัสได้ทั้งจากภาคประชาสังคม

และที่มากด้วยความอ่อนไหวเป็นอย่างมากคือ น้ำเสียงอันมาจาก “ภาคธุรกิจ”

แม้จะยังไม่กล้าต่อต้าน คัดค้าน การยืดเวลาประกาศและบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินโดยตรง แต่ก็สะท้อนให้เห็นจุดอ่อนและผลเสียอันจะตามมา

เป็นจุดอ่อนและผลเสียอันตกกระทบกับการดำเนินธุรกิจในพื้นที่ทางเศรษฐกิจโดยตรง

จึงเรียกร้องในเรื่องความเข้มงวดให้”ผ่อนปรน”มากขึ้น

ยิ่งกระแสเรียกร้องในเรื่องการคลายล็อกกระหึ่มขึ้นมากเพียงใด ยิ่งตอกย้ำและยืนยันว่าการคงพรก.บริหารราชการใน สถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อเป้าหมายทางการเมืองมากกว่าเป้าหมาย ในทางสุขภาพ

สายตาจะมองไปยังเจตนประสงค์อันแฝงเร้นของ”รัฐบาล”เป็นสำคัญ

การคงพรก.บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินจึงเป็นปัญหาในทาง “การเมือง” มิได้เป็นปัญหาในทาง”สุขภาพ”

เพราะจากเดือนมีนาคมล่วงมาถึงเดือนพฤษภาคมแล้ว

เพราะเป้าหมายอาจจะอยู่ที่การสยบให้ยอมจำนนในทางการเมือง แต่ผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจยังเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างแน่นอน

เชื่อได้เลยว่า น้ำเสียงอันสะท้อน”ปฏิกิริยา”ของธุรกิจภาคเอกชนจะกระหึ่มขึ้น กระหึ่มขึ้น ให้รัฐบาลได้ยิน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน