คอลัมน์ ใบตองแห้ง : รัฐยิ่งใหญ่ฐานรากพัง

รัฐยิ่งใหญ่ฐานรากพัง – รัฐบาลไม่ได้ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพทางการเมือง เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ถ้าจะมี ก็เป็นผลพลอยได้เท่านั้น

รัฐบาลต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพราะบริหารประเทศง่ายดี ไม่ต้องใช้ฝีมือ ใช้แค่การออกคำสั่ง เพราะตามที่วิษณุ ทวีศิลป์ ยกมาอ้าง ถ้าไม่มีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อ และกฎหมายอีก 40 ฉบับ ไม่สามารถบูรณาการ ต้องทำงานข้ามกระทรวง พ.ร.บ.โรคติดต่อไม่ให้อำนาจรัฐบาล จะทำให้เกิด 77 มาตรฐาน 77 จังหวัด ฯลฯ

เท่ากับสารภาพว่าบริหารประเทศไม่เป็น รัฐบาลปกติก็ต้องใช้กฎหมายหลายหมื่นฉบับ รัฐบาลปกติก็ต้องสั่งผู้ว่าฯ 77 จังหวัดอยู่ทุกวัน รัฐบาลปกติก็ต้องบริหารข้ามกระทรวง หรือว่าปกติ ตู่ทำไม่เป็น เก่งแต่ใช้ ม.44 พอไม่มีก็เคว้งคว้าง

อำนาจพิเศษตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินมีอย่างเดียว คือเคอร์ฟิว ซึ่งวิษณุ ทวีศิลป์ ไม่ยักอธิบาย ว่ายังจำเป็นอย่างไร เคอร์ฟิวสี่ทุ่ม ลดราคาเป็นห้าทุ่ม เป็นหกทุ่ม ยิ่งทำให้เห็นว่า ไร้สาระ เปล่าประโยชน์ แค่ให้ทหารตำรวจได้เอ็กเซอร์ไซส์ แต่ส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจการทำมาหากิน

รัฐบาลต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังเพราะเห็นว่า ได้คะแนนนิยม จากตอนแรกรัฐล้มเหลว รัฐบาลผสมไร้เอกภาพ รัฐราชการไร้ประสิทธิภาพ จัดการปัญหาไม่ได้ ต้องใช้อำนาจฉุกเฉิน แล้วบังเอิญโควิดแพร่กระจายได้ไม่มากนักในสภาพแวดล้อมประเทศไทย ระบบสาธารณสุขมีประสิทธิภาพ ประชาชนให้ความร่วมมือ

ประยุทธ์กับหน่วยงานความมั่นคงก็เลยหน้าบาน ไพบูลย์ นิติตะวัน อวยไส้แตก กองหนุนปลาบปลื้มน้ำตาไหล หันมาไล่ด่าพวกเรียกร้องให้คลายล็อก ให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า “ชังชาติ”

สภาวะเช่นนี้ทำให้รัฐอำนาจนิยมได้เปรียบทางการเมือง สามารถกระชับอำนาจบนความหวาดกลัวของประชาชน เพราะในสถานการณ์โรคระบาด ปัจเจกชนไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ต้องพึ่งมาตรการรัฐ ทั้งด้านควบคุมป้องกันโรค และช่วยเหลือเยียวยาเศรษฐกิจ

ในรัฐประชาธิปไตย โควิดอาจส่งผลให้ฝ่ายประชาธิปไตย เข้มแข็งขึ้น เช่น เยอรมนี พรรคฝ่ายขวานาซีใหม่หงอยไปหมด เกาหลีใต้ ไต้หวัน ผู้นำชนะเลือกตั้งถล่มทลาย สหรัฐ สงสัยทรัมป์จะลำบาก ประธานาธิบดีบราซิล (ซึ่งมาจากม็อบคนชั้นกลาง+ ตุลาการภิวัตน์โค่นพรรคแรงงาน) ก็ถูกด่าขรม

แต่ในรัฐอำนาจนิยม ก็มีแนวโน้มที่จะปลุกชาตินิยม หยุดเชื้อเพื่อชาติ รู้รักสามัคคี เชื่อฟังรัฐและเจ้าหน้าที่ อย่างหัวนิ่ม โดยไม่ตั้งคำถาม แม้เป็นมาตรการที่เห็นว่าเปล่าประโยชน์ ย้อนแย้งน่าขัน ก็เชื่อฟังเพื่อความปลอดภัยไว้ก่อน ป้องกันไว้ก่อน “การ์ดอย่าตกๆๆ”

เช่น ครอบครัวเดียวกันมาด้วยกันเข้าร้านอาหารทำไมต้องแยกโต๊ะ เช่น โควิดเป็นสิบเป็นร้อยเข้าร้านสะดวกซื้อไม่ต้องเซ็นชื่อ เป็นศูนย์เป็นหนึ่งต้องเซ็นชื่อ (บางคนเซ็นชื่อประยุทธ์เสียเลย) หรือโควิดหากินตอนห้าทุ่มถึงตีสี่ ดังนั้น กระทั่ง ส.ส.ประชุมสภา ก็ต้องเลิกสองทุ่ม เพราะกลัวโควิดเอาไปกิน

การทำให้ประชาชนเป็นเด็กอนามัย เชื่อฟังคำสั่ง โดยไม่ถามเหตุผล ไม่วินิจฉัยด้วยตนเองว่ามีเหตุผลทางการแพทย์เพียงพอหรือไม่ นี่ต่างหากคือชัยชนะทางการเมืองของรัฐ “ปิตาธิปไตย”

อย่างไรก็ดี ตัวรัฐเอง รวมทั้งฝ่ายสาธารณสุข ก็ติดกับดักตัวเอง ไม่กล้าลงจากอำนาจฉุกเฉิน ไม่กล้าผ่อนมาตรการ หลังได้รับ “ชัยชนะ” ตัวเลขเป็นศูนย์ ตัวเลขต่ำสิบ แล้วก็นั่งตัวเกร็ง กลัวว่าเปิดเศรษฐกิจแล้วโควิดจะกลับมาใหม่ “ชัยชนะ” จะ สูญเสียไป

ภาวะเช่นนี้จะทำให้เศรษฐกิจหลังโควิดยิ่งวิบัติ คนระดับล่างจะยิ่งยากจนลง มีแต่ “คนชั้นกลางภาครัฐ” ไม่เดือดร้อน

อ.อภิชาต สถิตนิรามัย เศรษฐศาสตร์ มธ. ประเมินว่า คนรายได้น้อย 40% ของประเทศจะเดือดร้อนหนัก เพราะก่อนโควิด 3 ปี คนจนที่มี 10% ก็เพิ่มมากขึ้น โควิดทำให้คนอีก 30% ที่มีงานทำแต่ไม่มีเงินออม ต้องตกงานหรือรายได้ลดลง รวมแล้วคือ 30 กว่าล้านคน โดยคนที่เหลือก็เดือดร้อนเช่นกัน

ภาวะอย่างนี้ทำให้ประชาชนจะต้องหันมาพึ่งรัฐมากขึ้น พึ่งเงินกู้ 4 แสนล้าน พึ่งโครงการต่างๆ ของรัฐ รวมถึงพึ่งการเมืองระบบอุปถัมภ์ เส้นสายในการเข้าถึงงบประมาณ

ภาพสองด้านจะสวนทางกัน เหมือนที่เห็นอยู่ คนยากจนเข้าคิวรับการสงเคราะห์ หน่วยงานราชการที่มีเงินเดือนประจำมีเบี้ยเลี้ยงค่ารถเบี้ยประชุม ฯลฯ จัดตู้ปันสุข แสดงความเมตตา ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กอ.รมน. จะยิ่งมีอำนาจมาก มีบารมีมาก ยิ่งมีโรคระบาดมีทุพภิกขภัย ประชาชนยิ่งต้องพึ่งราชการ พึ่ง “พ่อเมือง”

ประชาชนฐานรากจะอ่อนแอ ประชาธิปไตยฐานรากจะอ่อนแอ พรรคฝ่ายค้านยิ่งหมดทางสู้ในการเลือกตั้ง รัฐอำนาจนิยมจะยิ่งเข้มแข็ง ทั้งด้วยเสาค้ำ 250 ส.ว. กองทัพ องค์กรอิสระ และเครือข่ายการเมืองอุปถัมภ์ เจ้าแม่เจ้าพ่อแป้งมันดูด ส.ส.

แต่ฟังแล้วอย่าดีใจ ภาวะที่รัฐราชการยิ่งใหญ่ เข้มแข็ง มั่นคง ในขณะที่ฐานรากพังทลาย ดิ้นรน รอรับการสงเคราะห์ มันก็คือระเบิดลูกใหญ่ ใหญ่มาก ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา และมองไม่ออกว่าจะลงเอยอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน