คอลัมน์ บทบรรณาธิการ : เลือกตั้งท้องถิ่น

เลือกตั้งท้องถิ่นหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก่อการรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลประชาธิปไตย ส่งผลให้การเลือกตั้งท้องถิ่นถูกยกเลิกอย่างสิ้นเชิงมาเกือบ 6 ปีแล้ว

ไม่เพียงจะไม่ให้มีจัดการเลือกตั้งเท่านั้น แต่คณะรัฐประหารยังริบอำนาจยกเลิกผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่น ตั้งแต่ระดับเทศบาลไปจนถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัด รวมถึงการปกครองรูปแบบพิเศษในบางพื้นที่ด้วย

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ยังใช้อำนาจพิเศษแต่งตั้งบุคคลที่ใกล้ชิดเข้าไปทำหน้าที่แทนในหลายแห่ง แม้จะคืนตำแหน่งให้ภายหลัง แต่ก็มีข้อครหาเรื่องประโยชน์ตอบแทนทางการเมืองในช่วงการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา

ทำให้ประชาชนเสียโอกาส ขาดการมีส่วนในการบริหารท้องถิ่นตนเอง

ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ตรากฎหมายไว้รองรับสำหรับเลือกตั้งท้องถิ่นไว้บ้างแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เคยตอบกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรโดยยืนยันว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นปีนี้อย่างแน่นอน

ทำให้พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองต่างๆ มีความคึกคัก จัดเตรียมและวางตัวบุคคลไว้ลงรับสมัครเลือกตั้งไว้แล้ว นอกจากนี้ บุคคลที่มีชื่อเสียงหลายสาขาอาชีพที่แสดงตัวชัดว่าจะลงแข่งขันด้วย

แต่หลังจากรองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลด้านกฎหมายโยนหินถามทาง อ้างงบประมาณที่ใช้จัดการเลือกตั้งถูกโยกไปใช้แก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อาจจะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้

สร้างความแปลกใจและเกิดปฏิกิริยาโต้กลับรัฐบาลทันที

ในทางการเมืองนั้นการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับ ถือเป็นรากแก้วที่เสริมสร้างความแข็งแรงและแข็งแกร่งต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยแท้ ที่ผ่านมาก็สามารถหยั่งลึกและกำลังจะเจริญงอกงามในทุกจังหวัด

หากดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ก็จะยิ่งตอบสนองความต้องการของชุมชนในระดับท้องถิ่น ที่เชื่อมโยง ถึงทิศทางการบริหารประเทศ เนื่องจากกำหนดโดยประชาชน ชาวบ้านมีส่วนร่วม

เมื่อมีการเลือกตั้งระดับประเทศแล้ว ถ้าหากยังมีความพยายามจะบั่นทอน ลิดรอนไม่ให้ท้องถิ่นมีสิทธิ์มีเสียงเลือกผู้บริหาร ก็ย่อมขัดต่อหลักการกระจายอำนาจอย่างแน่นอน

เพราะการเมืองท้องถิ่นยิ่งแข็งแกร่ง ประชาชนมีส่วนกำหนดเอง ก็ยิ่งให้ประชาธิปไตยมีความแข็งแรงด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน