FootNote:แผนจับกุมผู้นำม็อบ ผู้นำชุมนุม ปฎิบัติการยิงศรที่ไร้ความหมาย

ทั้งๆที่อยู่ระหว่าง “เยาวชน / ประชาชนปลดแอก”ตระเตรียมในเรื่องชุมนุมใหญ่วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม ทั้งๆที่การจับกุม นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ก็ลงเอยด้วยการได้รับการประกันและปล่อยตัว

แต่กองบัญชาการตำรวจนครบาลก็ยังแถลงยืนยันจะดำเนิน การจับกุม 28 เป้าหมายที่เหลืออยู่ต่อไป

รวมถึงการร้องขอถอนการประกัน 2 ผู้ต้องหาก่อนหน้านี้

สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าการจับกุมตัว นายอานนท์ นำภา ไม่ว่าการจับกุมตัว นายภาณุพงศ์ จาดนอก ไม่ว่าการจับกุมตัว นายพริษฐ์ ชิวารักษ์

เจ้าหน้าที่ตำรวจยังดำรงจุดมุ่งหมายในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยไม่สนใจว่าปฏิบัติการของตนจะส่งผลสะเทือนอะไรในทางการเมือง

ถามว่าจุดมุ่งหมายของตำรวจคืออะไร คำตอบเด่นชัดอย่างยิ่งว่าต้องการก่อให้เกิดความหวาดกลัวและไม่เข้าร่วมในการชุมนุมอีก

คำถามก็คือ การจับกุมสร้างความหวาดกลัวได้จริงหรือไม่

หากมองจากพื้นฐานความเชื่อเก่าของการชุมนุมทางการเมือง การจับกุมบุคคลซึ่งเชื่อว่าเป็น”แกนนำ”มีบทบาทในการจัดการชุมนุมเท่ากับเป็นการเด็ดหัว

ผลที่ตามมาอย่างฉับพลันทันใดก็คือ ก่อให้เกิดภาวะระส่ำระสายในกลุ่มมวลชน

ผลก็คือ การชุมนุมมิอาจบรรลุตามเป้าหมายที่วางเอาไว้

แต่คำถามก็คือ การปรากฏขึ้นของ”เยาวชนปลดแอก”มีแกนนำอย่างเด่นชัดเหมือนกับการชุมนุมในอดีตไม่ว่าเดือนตุลาคม 2516 ไม่ว่าเดือนพฤษภาคม 2535 หรือไม่

ตอบได้เลยว่าการปรากฏขึ้นของ”เยาวชนปลดแอก”ก็เหมือนกับการปรากฏขึ้นของ”แฟล็ชม็อบ”ในห้วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นั่นก็คือ อาจมีผู้ปราศรัย แต่ไม่ปรากฏ”ผู้นำ”เหมือนในอดีต

ไม่ว่าที่เกิดบนถนนราชดำเนิน ไม่ว่าที่เกิด ณ ประตูท่าแพ ไม่ว่าที่เกิดตามมหาวิทยาลัยต่างๆเป็นการรวมตัวกันของมวลชน

เมื่อคำว่า”ผู้นำ”การชุมนุมแตกต่างไปจากม็อบในกาลอดีต การจัดการกับ”ผู้นำ”ตามข้อมูลของทางการจึงมาจากบทสรุปที่ผิดพลาด

ผลก็คือ แทนที่จะสามารถสยบการชุมนุม ตรงกันข้าม กลับมีการชุมนุมต่อเนื่องไปอย่างไม่ขาดสาย

ดังที่จะได้เห็นในตอนค่ำวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน