FootNote : สัญญาณ จาก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อกระบวนการ แก้ไข “รัฐธรรมนูญ”

ปฏิบัติการถอนชื่อจากที่เคยให้ความเห็นชอบต่อญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 272 ของ 17 ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลถือได้ว่าเป็นปฏิบัติการอันทรงความหมายเป็นอย่างสูง

เตือนให้ตระหนักว่ารัฐบาลและโดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐคิดอย่างไรต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ขนาดเป็นเพียงมาตรา 272 ยังรุนแรง แข็งกร้าวขนาดนี้

เท่ากับรัฐบาลตระหนักว่ามาตรา 272 อันมีผลโดยตรงไปถึงสถานะและบทบาทของ 250 ส.ว.ว่าสำคัญและทรงความหมายมาก เพียงใด

นี่ย่อมเป็นกล่องดวงใจ นี่ย่อมเป็นรากฐานแห่งอำนาจในทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หากเมื่อใดที่การแก้ไขเพิ่มเติมผ่านมาตรา 256 ไปยังการจัดวางโครงสร้างและรายละเอียดของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ความรุนแรงและแข็งกร้าวจะแผ่ออกมาเพียงใด

พรรคเพื่อไทยอันมากด้วยประสบการณ์และความจัดเจนทางการเมืองย่อมอ่านออกแทงทะลุ

ยิ่งสัมผัสในท่าทีอันมาจากพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ยิ่งเห็นได้อย่างเด่นชัดว่าทิศทางของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะดำเนินไปอย่างไร

1 แก่นแกนของรัฐธรรมนูญที่มุ่งเพื่อการสืบทอดอำนาจยังดำรงคงอยู่อย่างเหนียวแน่นและมั่นคง

ความน่ากลัวก็คือ มิได้มีแต่จากคสช. มิได้มีแต่จากพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น หากแม้กระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนาก็จะเข้าร่วมกระบวนแห่นี้ด้วย

1 ความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการเตะถ่วง หน่วงรั้งในลักษณะแห่งการซื้อเวลาก็จะแสดงออกอย่างเด่นชัดบนพื้นฐานความเชื่อมั่นที่ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา”

“พวกเรา”ในที่นี้มิได้หมายถึงพรรคพลังประชารัฐอีกแล้ว

นี่คือความเป็นจริงที่สังคมจะต้องประเมินพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ใหม่

จากนี้จึงเด่นชัดอย่างยิ่งว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใต้เงื่อนปมของเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี เสมอเป็นการต่อสู้บนเวทีการเมืองหนึ่งซึ่งจะต้องขับเคี่ยวกันไป

กระนั้น ปัจจัยชี้ขาดอย่างแท้จริงน่าจะเป็น”พื้นที่”ทางการเมืองอื่นนอกเหนือจากบนเวทีรัฐสภามากกว่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน