FootNote : 100,000 ชื่อ จอน อึ๊งภากรณ์ 100,000 ชื่อ วรงค์ เดชกิจวิกรม

ขณะที่ “ไอลอว์” โดย นายจอน อึ๊งภากรณ์ ส่งมอบรายชื่อกว่า 100,000 ไปยังประธานรัฐสภาสะท้อนความเรียกร้องต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเสียงของประชาชน

กลุ่ม”ไทยภักดี” โดย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ก็แสดงความพร้อมที่จะส่งมอบรายชื่อกว่า 100,000 ไปยังประธานรัฐสภา

สะท้อนความเรียกร้องไม่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เหมือนกับ 100,000 รายชื่อจากมือ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แห่ง “กลุ่มไทยภักดี” กับ 100,000 กว่ารายชื่อจากมือ นายจอน อึ๊งภากรณ์ แห่ง “ไอลอว์”กำลังปะทะและขัดแย้งกัน

ฝ่ายหนึ่งต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกฝ่ายหนึ่งต้องการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

เหมือนกับนี่คือการปะทะและต่อสู้กันในเชิง “ประชาธิปไตย”

ประชาธิปไตยอันมีพื้นฐานอยู่กับอำนาจของประชาชน ประชาธิปไตยอันถือว่าเสียงของประชาชนเป็นใหญ่

แต่คำถามอยู่ที่ว่ารากฐานของ 100,000 รายชื่อมาอย่างไร

ต้องยอมรับว่าการรณรงค์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญโดย “ไอลอว์”เป็นกระบวนการในทางการเมืองอันเริ่มขึ้นพร้อมกับการปรากฏตัวขึ้นของ “เยาวชนปลดแอก”

1 เคลื่อนไหวไปตามการเคลื่อนไหวของ “เยาวชนปลดแอก”

ขณะเดียวกัน 1 ดำเนินตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างครบถ้วน มีการตรวจสอบข้อมูลจากความเป็นจริงของประชาชนแต่ละคนอย่างเคร่งครัด

ต้องมาจากผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งอย่างสมบูรณ์ ต้องมีหลักฐานแนบไปกับคำร้องครบถ้วน

นั่นคือรากฐานที่มาของกว่า 100,000 รายชื่อ “ไอลอว์”

ขณะที่”ไอลอว์”ใช้เวลาเกือบ 2 เดือนจึงได้รายชื่อตามข้อกำหนด แต่”กลุ่มไทยภักดี”ใช้เวลาเพียงไม่กี่วันโดยการออกเสียงผ่านทางโซเชียลมีเดียด้วยเวลาเพียงไม่กี่วัน

ไม่มีการตรวจสอบว่าเป็นผู้มีสิทธิหรือไม่ ไม่มีการตรวจสอบว่ามีตัวตนจริงหรือไม่

ไม่ว่า “ไอลอว์” ไม่ว่า “ไทยภักดี” เมื่อนำ 100,000 รายชื่อเสนอต่อรัฐสภา สายตาจึงมองไปถึงหลักฐาน ข้อมูล ความสมบูรณ์ครบถ้วน ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

มองไปยัง นายจอน อึ๊งภากรณ์ ไปยัง นพ.วรงค์ เดชวิกรม

มองเห็นกระบวนการทำงาน มองเห็นการขับเคลื่อนขององค์กร มองเห็นเครดิตและความน่าเชื่อถือในทางสังคม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน