คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่าง ส.ส. กับ ส.ว. จากคำอภิปรายในวาระการประชุมพิจารณาญัตติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ไม่เพียงอยู่ที่การลงมติว่า เห็นชอบ หรือ ไม่เห็นชอบ เท่านั้น

แต่เป็นท่าทีของกลุ่มบุคคลสองกลุ่มที่แสดงออกชัดเจนว่า ยึดโยง หรือไม่ยึดโยง กับประชาชน

จึงมีเสียงวิจารณ์เชิงตลกร้ายต่อการอภิปรายดังกล่าวว่า ส.ว.ทำหน้าที่สนับสนุนรัฐบาลได้ดียิ่งกว่าสมาชิกพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลเสียอีก

เหตุผลของกลุ่มส.ว.ที่ประกาศคว่ำญัตติแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่ย้อนพูดถึงการมีสภาเสียงข้างมากในอดีตว่าเป็นเผด็จการ

ขณะเดียวกันก็ยอมรับการยึดอำนาจมาให้คณะบุคคลตัดสินใจแทนประชาชนทั้งหมด ราวกับเป็นบุญคุณที่ช่วยเหลือประเทศชาติไว้

ส.ว.บางคนระบุว่า เสียงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นพฤติกรรมขี้แพ้ชวนตี ไม่ยอมรับผลของกติกาที่กำหนดไว้แล้วในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

อีกทั้งชี้ว่าหากมีการจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ต้องลงประชามติถึง 3 ครั้ง ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณราว 15,000-20,000 ล้านบาท ทั้งที่ประเทศต้องใช้เงินสำหรับฟื้นฟูผลกระทบจาก โควิด

ขณะที่ส.ส.หลายคนพยายามชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจของประเทศมาถึงจุดที่ประชาชน เดือดร้อน เพราะระบบและกลไกที่ผิดพลาด จนทำให้มีรัฐบาลที่ไม่อาจรับมือกับปัญหาได้

ส.ว.แสดงความเห็นว่าหากแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะยิ่งทำให้สังคมแตกแยก ส่วนส.ส.เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันต่างหากที่ได้สร้างความแตกแยกขึ้นแล้วในสังคม

ความคิดเห็นที่แตกต่างกันดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งที่ตอกย้ำว่า ไม่ว่าส.ว.จะมีคุณสมบัติส่วนตัวดีเลิศประการใด อภิปรายได้เก่งเพียงใด มีอำนาจที่ได้จากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมากเพียงใด กลับไม่อาจชั่งน้ำหนักของเนื้อหาและเหตุผลได้

เนื่องจากไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ ถึงประชาชน แม้จะได้เงินภาษีของประชาชนเป็นเงินเดือน

ส่วนส.ส. ไม่ว่าจะแสดงจุดยืนใด อภิปรายเนื้อหาใด ย่อมคำนึงถึงบทบาทของตนเองอย่างรอบด้าน เพราะหากพลาดพลั้ง จะส่งผลต่อคะแนนเสียงที่ประชาชนเคยเทให้ทันที

ความเกรงใจประชาชนจึงเป็นจุดต่างที่ชัดเจนระหว่าง ส.ส. กับ ส.ว.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน